กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้บริโภค ซื้อไส้กรอกที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์และมีรายละเอียดผู้ผลิต สถานที่ผลิต วันหมดอายุ และมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หลีกเลี่ยงซื้อไส้กรอกมีสีชมพูหรือแดงเข้มเกินไป เลือกวิธีปรุงที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการนำไปทอดหรือย่างจนไหม้เกรียม เพื่อสุขอนามัยที่ดี
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นโปรตีน ไขมัน และน้ำ แต่ยังมีส่วนประกอบของสารอื่นที่ใส่ลงไปในไส้กรอกอีก เพื่อให้ไส้กรอกมีสีสันน่ารับประทานป้องกันการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ และเป็นการยืดอายุการเก็บรักษา ได้แก่ ไขมัน น้ำมัน ซึ่งช่วยให้ไส้กรอก มีลักษณะนุ่ม ชุ่มฉ่ำ มีเนื้อสัมผัสและรสชาติดี
ข้อสังเกตในการเลือกซื้อไส้กรอก ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสีชมพูหรือแดงเข้มจนเกินไป ควรมีรายละเอียดต่าง ๆ ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ โดยจะต้องระบุสถานที่ผลิต วันผลิต วันหมดอายุอย่างชัดเจน ควรมีเครื่องหมายรับรองต่าง ๆ เช่น อย. มอก. เป็นต้น และหากพบว่ามีการใส่วัตถุกันเสีย ก็ไม่ควรบริโภคอาหารนั้นเป็นประจำ ส่วนการบริโภคไส้กรอกที่ไม่ทำให้เกิดผลเสียกับสุขภาพนั้น ควรบริโภคในปริมาณที่พอประมาณ ไม่มากหรือบ่อยเกินไป แม้ว่าร่างกายของมนุษย์มีกลไกการกำจัดสารพิษหรือของเสียออกจากร่างกายได้ แต่หากมีการบริโภคอาหารประเภทเดียวกันซ้ำๆ เป็นเวลานาน ร่างกายก็อาจจะมีการสะสมพิษหรือของเสียดังกล่าวเอาไว้
วิธีที่จะช่วยให้การสะสมสารพิษหรือของเสียลดลง คือ บริโภคอาหารให้หลากหลาย จะช่วยให้ร่างกายมีเวลากำจัดสารเหล่านั้นออกไปจากร่างกายได้ รวมทั้งควรเลี่ยงการบริโภคไส้กรอกแบบทอดน้ำมันในอุณหภูมิสูง หรือย่างแบบไหม้เกรียม เพราะอาจก่อให้เกิดสารไนโตรซามีนที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้ และเพื่อให้ดีต่อสุขภาพ หากบริโภคไส้กรอก ควรบริโภคควบคู่กับผักผลไม้ ที่มีเกลือแร่และวิตามินซีสูง เช่น ผักคะน้า กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศสีดา บร็อคโคลี่ ดอกกะหล่ำ ฝรั่ง ส้ม มะละกอ มะขามป้อม พุทรา สัปปะรด รวมถึงอาหารที่มีวิตามินอีสูง เช่น นม ไข่ ธัญพืช ถั่วลิสง ผักโขม น้ำมันพืช เพื่อให้ได้ประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระด้วย ช่วยต่อต้านมะเร็งได้
อย่างไรก็ตาม การบริโภคไส้กรอกมากเกิน เสี่ยงร่างกายได้รับสารไนไตรต์ในปริมาณสูงเกินกว่าค่าปลอดภัย โดยเฉพาะไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐาน ไส้กรอกยังจัดเป็นอาหารที่มีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูง ถ้าบริโภคเป็นจํานวนมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกิน อ้วนและภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้ เกลือหรือโซเดียม ปริมาณเกลือที่เติมนั้นแล้วแต่ชนิดของไส้กรอก โดยส่วนใหญ่ไส้กรอกหมู 1 ชิ้น มีโซเดียม ประมาณ 300-400 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับเกลือประมาณ 1/5 ช้อนชา ตามปกติแล้วร่างกายจะได้รับโซเดียมที่มีอยู่ตามธรรมชาติของอาหารชนิดนั้น ๆ ด้วย ซึ่งใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมหรือเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา 4 ช้อนชา เพราะการบริโภคโซเดียมมากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไตเรื้อรังได้