ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 65 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง 2564/65 โดยมี นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและรายงานสถานการณ์น้ำ
อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (6 ก.พ.65) ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ความจุเก็บกัก 960 ล้าน ลบ. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 676 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯ สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 ในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 10 ซึ่งได้วางแผนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งตามแผนบริหารความเสี่ยง ด้วยการเพิ่มศักยภาพการลำเลียงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่คลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก โดยเตรียมความพร้อมการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณปากคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก หากระดับน้ำในแม่เจ้าพระยาด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ระดับต่ำกว่า +13.00 ม.รทก. พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำประปา ด้วยการจัดสรรน้ำแบบรอบเวรการใช้น้ำในคลอง ชัยนาท – ป่าสัก รวมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อสนับสนุนการลำเลียงน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก เข้าไปเติมให้กับแม่น้ำบางขาม เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ด้วย
สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะสั้น ได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 ทั้ง 8 มาตรการอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำ และแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดทรัพยากรน้ำ
ด้านแผนระยะยาว กรมชลประทานได้วางแผนการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแบบอาคารถาวรบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท เพื่อให้สามารถสูบน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก และสนับสนุนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการ “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม– เขื่อนภูมิพล” สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลปีละประมาณ 1,795 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำฝั่งซ้ายคลองชัยนาท- ป่าสัก อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ในการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี2564/65 ตามแผนที่กรมชลประทานกำหนด แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตโครงการชลประทานลพบุรี จำนวน 56,685 ไร่ และพื้นที่ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแค จำนวน 8,040 ไร่ (รับน้ำจากคลองส่งน้ำ 2 ซ้าย และ3 ซ้าย) ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรทำนาปรังแล้ว 100% คาดว่าจะเก็บเกี่ยวในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้และทางโครงการชลประทานลพบุรีได้เตรียมส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมตามแผนปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีของพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อไป
นายประพิศ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ บริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึงและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และการอุตสาหกรรม เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้