บทความโดย อัปสร พรสวรรค์
ในปี 2561 ผลกระทบจากโรคระบาดแอฟริกัน สไวน์ ฟีเว่อร์ (African Swine Fever : ASF) แพร่กระจายจากยุโรปเข้ามาในเอเซีย โดยมีจีน เป็นประเทศแรกที่มีการรายงานหมูติดโรคนี้เริ่มจากหนึ่งจังหวัดและกระจายไป 32 จังหวัด ทำให้มีการทำลายหมูในประเทศจีนไปมากกว่า 50% ของการผลิตในประเทศ โดยในปี 2560 มีการผลิตหมูประมาณ 650 ล้านตัวต่อปี ที่สำคัญ คือ ราคาหมูหน้าฟาร์มพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์จาก 12.2 หยวนต่อกิโลกรัม (ประมาณ 64 บาท) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็น 37 หยวน (180-190 บาท) ในช่วงปลายปี 2562 ซึ่งราคาขายปลีกเนื้อหมูจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากราคาหน้าฟาร์ม
เวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงรองจากจีน ที่ตรวจพบ ASF ในประเทศ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และแพร่กระจายไป 63 จังหวัด จนต้องทำลายหมูไปประมาณ 5.9 ล้านตัว หรือ 22% ของการผลิตในประเทศ ส่งผลให้ราคาหมูหน้าฟาร์มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ตามหลังจีนมาติดๆ ราคาเฉลี่ย 49,000-49,500 ดองต่อกิโลกรัม (ประมาณ 176-180 บาทต่อกิโลกรัม)
จากสถานการณ์โรคระบาดดังกล่าว ทั้งสองประเทศประสบปัญหาขาดแคลนเนื้อหมูอย่างหนัก ต้องใช้เวลาประมาณ 18-20 เดือน ในการกอบกู้สถานการณ์การผลิตและราคาให้กลับมาเป็นปกติ ด้วยการประกาศนโยบายที่เคร่งครัด เช่น การจัดการโซนนิ่งจำกัดพื้นที่โรคระบาดในรัศมี 5-10 กิโลเมตร และส่งหมูเข้าโรงชำแหละในพื้นที่แทนการเคลื่อนย้ายข้ามเขต การจ่ายเงินชดเชยเพื่อจูงใจให้เกษตรกรทำลายหมูตามหลักวิชาการทันทีที่พบการระบาดของโรค จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เร่งหาแม่พันธุ์หมูเพื่อผลิตลูกหมูสำหรับเข้าเลี้ยงรอบใหม่ ปรับปรุงและฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย รายเล็ก ให้เป็นไปตามมาตรฐานฟาร์ม ตามแนวทางการป้องกันโรค รวมถึงการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค
หันมาดูประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดช้ากว่าทั้ง 2 ประเทศ เกือบ 2 ปี ผลที่ปรากฎวันนี้ การเปิดเผยความจริงของไทยว่าพบโรค ASF ที่โรงชำแหละในจังหวัดนครปฐม เมื่อเดือนมกราคม 2565 และการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น เช่นจังหวัดที่มีการเลี้ยงหนาแน่นอย่างราชบุรีและนครปฐม ภาวะโรคที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นผลทางจิตวิทยาที่มีต่อเกษตรกร ทำให้มีการเลิกเลี้ยง หรือหยุดการเลี้ยงไปมากกว่าครึ่ง มีการประเมินว่าผลผลิตในประเทศหายไป 50% โดยแม่พันธุ์ทั่วประเทศลดลงจาก 1.1 ล้านตัว เหลือ 500,000 ตัวต่อปี ส่งผลให้หมูขุนลดลงจาก 21-22 ล้านตัว เหลือ 12-13 ล้านตัวต่อปี
ไม่ต่างจากจีนและเวียดนาม อุปทานของไทยหายไปจำนวนมากเป็นปัจจัยสำคัญที่ดันราคาเฉลี่ยหมูเนื้อแดงในช่วงเดือนมกราคม 2565 ขึ้นไปแตะ 250 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาหน้าฟาร์มที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากปลายเดือนธันวาคม 2564 ที่ราคาเฉลี่ย 98 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 110 บาท ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมปีนี้ จนสมาคมผู้เลี้ยสุกรแห่งชาติต้องประกาศรักษาระดับราคาหน้าฟาร์มไม่ให้เกิน 110 บาท จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยไม่ต้องมีใครมากำหนดราคา เพื่อไม่ให้กลไกตลาดเสียหาย
ขณะเดียวกัน จากการเดินหน้าตรวจสต๊อกของผู้ผลิตและห้องเย็นทั่วประเทศอย่างเข้มข้น ทำให้มีการทยอยนำสต๊อกออกสู่ตลาดต่อเนื่อง หากแต่การบริโภคของผู้บริโภคก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้น เหตุจากภาวะเศรษฐกิจภาคครัวเรือนที่ถดถอย ทำให้ปริมาณหมูกลับสู่สมดุล ราคาขายปลีกหน้าเขียงจึงลดต่ำลง ส่วนราคาหน้าฟาร์มอ่อนตัวลงไปอยู่ที่ 100 -104 บาทต่อกิโลกรัม (วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565) ซึ่งคาดว่าราคาจะลดลงอีก ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังไม่มีการนโยบายนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนและราคาสูงอย่างที่บางฝ่ายแนะนำ เพราะต้องพิจารณาสมดุลผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สัตวแพทย์ศาสตร์ สมาคมผู้เลี้ยงหมูแห่งชาติ และกรมปศุสัตว์ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทย โดยเฉพาะรายย่อยและรายเล็กต้องใช้เวลา 1-2 ปี ในการเพิ่มผลผลิตให้กลับสู่ภาวะปกติ แต่ราคาหน้าฟาร์มและราคาขายปลีกเนื้อหมูจะไม่กลับไปต่ำที่ระดับ 70-80 บาทต่อกิโลกรัม เช่นเดิมอีก เนื่องจากเกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยการป้องกันโรค รวมถึงราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ตลอดจนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีการปรับราคาขึ้น 30% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 13 ปี ทั้งกากถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
เหนือสิ่งอื่นใด โรคระบาด ASF อยู่เหนือการควบคุมเพราะยังไม่มีวัคซีนและยารักษาหากมีการระบาดของโรค แต่ป้องกันได้ด้วยการทำมาตรฐานฟาร์มตามหลักสากล และมาตรการป้องกันโรคระบาดด้วยระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) เพื่อป้องกันโรคจากภายนอกเข้าสู่ฟาร์ม และป้องกันโรคจากฟาร์มสู่ภายนอก เพื่อควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ซึ่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการเดินสายอบรมเกษตรกรในการฟื้นฟูฟาร์มอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพื่อส่งเสริมความรู้และสร้างความมั่นใจให้กับเกษตกรในเลี้ยงหมูรอบใหม่ โดยเฉพาะระบบไบโอซีเคียวริตี้ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากในการป้องกันโรค เหล่านี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น เราต้องรับมืออย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามความเป็นจริง เพื่อจบปัญหาในระยะเวลาอันสั้นไม่ซ้ำรอยเดิมอีกต่อไป