ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ กำแพงแสน ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า จากวิกฤติสุกรครั้งนี้ หลายส่วนที่เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบคงมีความกังวลเรื่องของการเตรียมรับมือและการปฏิบัติตัว ในเบื้องต้นคือ การยอมรับและทำความเข้าใจกับโรคนี้เพื่อหาแนวทางแก้ไข โรค ASF หรือ African Swine Fever จริงๆไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ โดยพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1907 หรือเกิดขึ้นมาแล้วประมาณ 100 ปีมาแล้ว เพียงแต่ว่าเพิ่งจะพบการแพร่ระบาดในเอเชียจีน เวียดนาม กัมพูชาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดพบในไทย โรคนี้มีความรุนแรง เมื่อสุกรได้รับเชื้อจะมีอาการป่วยและจะตายอย่างรวดเร็วภายใจ 5 – 7 วันหลังแสดงอาการ และแพร่เชื้อทางอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำเชื้อ และสามารถแพร่ระบาดในวงกว้าง ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
การป้องกันโรคนี้ต้องรู้จัก “พาหะนำโรค” ก่อน สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่สามารถผ่านเข้าไปในโรงเรือน หรือฟาร์ม เป็นพาหะนำโรค ASF ได้ทั้งหมด แม้จะไม่ได้มีอาการป่วยแต่สามารถนำเชื้อไปติดสุกรได้ เช่น นก สามารถแพร่เชื้อจากโรงเรือนหรือฟาร์มไปสู่อีกที่หนึ่งที่ตั้งอยู่ห่างไกล หากปล่อยให้นกเข้าไปในโรงเรือน กินอาหารจากสุกรที่ป่วย และบินไปโรงเรือนหรือฟาร์มอื่นๆ ก็จะนำเชื้อไปแพร่กระจายต่อ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาทิ หนู สุนัข แมว ยุง แมลงสาบ แมลงวัน หรือแม้กระทั่งคนเองก็เป็นพาหะนำโรคได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ อาหารเหลือจากคน เพราะถ้าอาหารนั้นมีการปนเปื้อนเชื้อ ASF แล้วนำไปให้สุกรกิน จะทำให้สุกรมีโอกาสป่วยได้ สุดท้ายคือ กิจกรรมการขนส่งเคลื่อนย้าย หากรถขนส่งหมูมีการปนเปื้อนและเกษตรกรสัมผัส ก็จะติดเชื้อแล้วนำพาเชื้อมาสู่คอกสุกรได้
เกษตรกรรายย่อยจะสามารถกลับมาเลี้ยงสุกรได้ แต่ต้องปรับรูปแบบการทำฟาร์มสุกรที่จะเปลี่ยนแปลงไป โดยต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ มีการสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่เคยมีการแพร่ระบาด พร้อมเตรียมระบบการจัดการและแนวทางป้องกันที่ได้มาตรฐานมากขึ้น ซึ่งการทำระบบ Biosecurity สามารถตอบโจทย์ได้ดี โดยเฉพาะในฟาร์มขนาดเล็ก มีการจราจรน้อยกว่ากลับทำได้ง่ายกว่าฟาร์มใหญ่ๆ และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีรูปแบบการเลี้ยงที่ตอบโจทย์กลุ่มเกษตรกรมากขึ้น ส่วนเรื่องของวัคซีนยังไม่ใช่ความต้องการลำดับต้นๆ เนื่องจากวัคซีนทำยาก และการระบาดรุนแรง สุกรส่วนใหญ่เมื่อได้รับเชื้อ จะสามารถสร้างภูมิคุมกันได้ แต่ฆ่าเชื้อไม่ได้ ส่วนมากสุกรตายก่อน เพราะฉะนั้นหลายประเทศจะใช้วิธีทำลาย
ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลว่าจะติดเชื้อ ASF จากเนื้อสุกร ยืนยันว่าโรค ASF ไม่ติดต่อสู่คน ซึ่งมีการยืนยันโดยองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) แต่เพื่อความมั่นใจ ผู้บริโภคควรซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ มีตรามาตรฐานกำกับ สังเกตลักษณะของเนื้อสุกรต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอม ไม่มีกลิ่นผิดปกติ ล้างเนื้อสุกรให้สะอาดก่อนนำมาประกอบอาหาร และต้องปรุงในอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสระยะเวลาประมาณ 30 นาที หรือ 80 องศาเซลเซียสระยะเวลา 15 นาทีขึ้นไป งดรับประทานอาหารดิบๆ หรือสุกๆดิบๆ เพราะนอกจากเชื้อ ASF แล้วก็ยังมีโรคอื่นๆ เช่น ไข้หูดับที่รุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้