กรมชลฯ แจงไม่ได้เก็บค่าน้ำทำนาไร่​ แค่กรอบตัวอย่างเพื่อรับฟังความเห็น

อธิบดีกรมชลประทาน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวเรื่องกรมชลประทานจัดเก็บค่าน้ำทำนาไร่ละ 25 บาท/ปี ว่า​ เป็นเพียงการเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2565 ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าชลประทาน ตามหลักการในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 มาตรา 8 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจในการออกกฎกระทรวงเพื่อเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ใช้น้ำทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม

ทั้งนี้​ ปัจจุบัน​ กรมฯ​ ยังไม่มีการเรียกเก็บค่าชลประทานในภาคเกษตรกรรมซึ่งให้เรียกเก็บได้ไม่เกินไร่ละห้าบาทต่อปี เนื่องจากไม่มีกฎกระทรวงเรียกเก็บแต่อย่างใด มีแต่เพียงกฎกระทรวงที่ให้อำนาจรองรับในการจัดเก็บค่าชลประทานเฉพาะนอกภาคเกษตรกรรม ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม การประปา และกิจการอื่น เป็นต้น ในอัตราลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์

เนื่องจากทางน้ำชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวงเป็นทรัพยากรน้ำสาธารณะตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดแบ่งทรัพยากรน้ำสาธารณะออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่หนึ่ง การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือนการรักษาระบบนิเวศน์ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย , ประเภทที่สองการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และประเภทที่สามการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ ในการใช้น้ำประเภทที่หนึ่งไม่ต้องขออนุญาตใช้น้ำและไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ ส่วนการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 จะต้องขออนุญาตใช้น้ำและชำระค่าใช้น้ำตามหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม ซึ่งนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำจะได้ออกกฎกระทรวงกำหนดต่อไป

ดังนั้น กรมชลประทานจึงต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความสอดคล้องกับอัตราการจัดเก็บค่าใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561

ส่วนในประเด็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เป็นการกำหนดหลักการขึ้นมาเพื่อรองรับตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้กำหนดให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาความเป็นได้ในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

อย่างไรก็ตาม ตามหลักการในร่างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. …. เป็นเพียงกรอบตัวอย่างเบื้องต้นเพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งทางมูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมายในฐานะผู้รับจ้างในการแก้ไขกฎหมายต้องสรุปภาพรวมของการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ภาค เสนอกรมชลประทานเพื่อพิจารณาให้เป็นไปตามสัญญาจ้างแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง ก่อนที่จะส่งมอบรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในการยกร่างแก้ไขกฎหมายต่อไป โดยจะมีการพิจาณาอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรและในทุกภาคส่วนต่อไป