นางสาวธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา รองกรรมการผู้จัดการ ด้านการจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ตามที่ แนวทางระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (เครดิตเทอม) ให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและเกษตรกรระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน กรณีที่เป็นสินค้าเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมานั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ พิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนสูง และคู่ค้า SMEs ส่วนใหญ่ไม่ได้จัดหาวัตถุดิบทางการเกษตร ซีพีเอฟจึงตัดสินใจขยายเวลาการดำเนินโครงการ Faster Payment ต่อไปอีก 3 เดือนจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม ปี 2565 นี้ เพื่อช่วยให้คู่ค้า SMEs กว่า 6 พันรายยังได้รับเงินหมุนเวียนเร็วขึ้นและมีสภาพคล่องทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระหนี้สิน และต้นทุนลดลง
“การต่อเวลาโครงการ Faster Payment ไปอีก 3 เดือน เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสภาพคล่องทางการเงินให้คู่ค้า SMEs นับเป็นของขวัญปีใหม่จากซีพีเอฟ ที่เดินหน้าโครงการช่วยเหลือคู่ค้า SMEs เป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 18 เดือน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้ดำเนินงาน และขยายงานตามแผนงาน รวมทั้ง สามารถปรับตัวตอบรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว สนับสนุนให้กิจการของ SMEs เติบโตได้อย่างมั่นคงในยุคนิวนอร์มอลต่อไป”
ซีพีเอฟ ได้ริเริ่มโครงการ Faster Payment ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 15 เดือน เพื่อช่วยคู่ค้าธุรกิจที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs บรรเทาผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ SMEs ต้องขาดรายได้อย่างรุนแรงและบางรายถึงขั้นปิดกิจการ โดยการปรับลดระยะเวลาเครดิตเทอมให้คู่ค้า SMEs ได้รับเงินค่าสินค้าและบริการจากบริษัทภายใน 30 วัน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ช่วยให้ SMEs สามารถดำเนินกิจการ รักษาการจ้างงานไว้ได้ และสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความผันผวนสูง
นอกจากโครงการ Faster Payment แล้ว ซีพีเอฟ ยังได้พัฒนาศักยภาพคู่ค้า SMEs ด้านต่างๆ ภายใต้แนวทางการพัฒนาคู่ค้าธุรกิจให้เติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน ทั้ง การถ่ายทอดและแบ่งปันนโยบายและแนวทางการจัดหาสินค้าและบริการที่รับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม การยกระดับมาตรฐานบริหารจัดการแรงงาน ตลอดจนร่วมมือกับ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สนับสนุนโอกาสให้คู่ค้าธุรกิจ SMEs มีความเข้าใจในการกำหนดแนวปฏิบัติในการป้องกันการทุจริตได้อย่างเหมาะสมตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งส่งผลในปีที่ผ่านมา มีคู่ค้า SMEs ของบริษัทรวม 20 บริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC ในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส และต่อต้านการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ