“ทรีนีตี้” ฟันธง January effect มาแน่ เหตุสภาพคล่องเงินไหลเข้าหนุนดัชนีวิ่งขึ้นต่อไตรมาสแรก มีโอกาสแตะ 1,680 จุด และ 1,800 จุด ทั้งปีให้กรอบ 1,500-1,800 จุด พร้อมแนะจัดพอร์ตเน้นหุ้น อิงการบริโภคภายในประเทศและหุ้นในดัชนี SETHD ซึ่งเตรียมเข้าสู่ช่วงเวลาดีที่สุดของปี
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือน ม.ค.2565 ว่า มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดปรากฎการณ์ January effect จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้ออำนวย ทั้งสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง เงินทุนไหลเข้า ช่วงต้นปีและการซื้อกลับของนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ ซึ่งจะหนุนให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อได้จากระดับปิดปี 2564 ที่1,657.62 จุดและภายในไตรมาสแรกของปี 2565 มีโอกาสเห็นดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 1,680 จุดในกรณีฐานและระดับ 1,800 จุดในกรณีดีสุด
ทั้งนี้ ทรีนีตี้ ประเมินเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 2565 บนสมมติฐาน EPS ของตลาดปี 2566 ที่ 107 บาท และพี/อี กรณีฐานที่ 15.7 เท่า จะได้ระดับดัชนีที่ 1,680 จุด ส่วนในกรณีดีสุด เทียบเคียงพี/อี ที่ 16.8 เท่า และสมมติฐาน EPS เดียวกัน จะได้ระดับดัชนีดีสุดที่ 1,800 จุด ซึ่งหากจะเห็นตัวเลข 1,800 จุดนี้ มองว่าจะต้องเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 นี้ ซึ่งประเมินว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของปี
ในทางกลับกัน มองแนวรับดัชนีกรณีฐานที่ระดับ 1,600 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียงพี/อี 16.8 เท่า และสมมติฐาน EPS ปี 2565 ที่ 96 บาท ส่วนในกรณีเลวร้ายสุด หากเกิดกรณีลบเช่น Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในไตรมาส 1 และรัฐบาลไทยหันกลับมาใช้มาตรการ Lockdown คนในประเทศอีกครั้ง มองระดับแนวรับที่ลึกที่สุดของ SET อยู่ที่ 1,500 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่าพี/อี 15.7 เท่า บนสมมติฐานตัวเลข EPS เดียวกัน
นายณัฐชาต กล่าวว่า ในเชิงกลยุทธ์ ยังคงแนะนำนักลงทุนให้ถือครองหุ้นไทยเพื่อ Let profit run ได้ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศเกิดใหม่ที่ปรับตัวได้ดีในช่วงต้นปีนี้ รับการไหลกลับเข้ามาบางส่วนของเงินทุนจากประเทศพัฒนาแล้ว ในฐานะที่เป็นประเทศที่ยังคง Laggard ทั้งในด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและระดับ Valuation ที่ยังอยู่ต่ำโดยเปรียบเทียบ พร้อมทั้งยังไม่มีความเสี่ยงด้านการเข้มงวดของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังแต่อย่างใด
ในส่วนธีมการลงทุนประจำเดือนมกราคมนี้ แนะนำนักลงทุนถือครองหุ้น 2 กลุ่มเดิมต่อไป นั่นก็คือ 1) กลุ่มที่อิงกับการบริโภคภายในประเทศที่มีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องและมีปัจจัยกระตุ้นรออยู่ เช่น มาตรการช้อปดีมีคืน อาทิ KBANK, BBL, BJC, CPALL, HMPRO, DOHOME, COM7, M, ORI, SPALI, SIRI, BEM, BTS, PLANB, MAJOR, VGI, PF&REIT และ 2) กลุ่มหุ้นปันผลสูงที่มีความเชื่อมั่นเกินกว่า 80% ว่าจะให้ผลตอบแทน Total return เป็นบวกในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ SCC, TISCO, AP, ADVANC, PTT, INTUCH, BBL, LH, GUNKUL, PTTEP, SIRI, SENA, SC, MAJOR, TOG, PSH
สำหรับกรณีที่กองทุน LTF ที่ผู้ลงทุนถือครองมาครบ 7 ปีจะไถ่ถอนนั้น ประเมินว่าในเดือนมกราคมจะมีมูลค่าเม็ดเงินราว 11,000 ล้านบาท ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแต่อย่างใด เพราะกองทุนต่างๆ น่าจะเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับแล้ว เห็นได้จากการขายหุ้นไทยของนักลงทุนสถาบันช่วงปลายปีที่ขายสุทธิไปกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าสามารถรองรับ LTF ที่จะไถ่ถอนได้เพียงพอแล้ว ที่สำคัญ น่าจะทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้ หันกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยได้ในช่วงเดือนมกราคม ดังภาพที่เคยเกิดขึ้นมาตลอด 8 ปีที่ผ่านมาที่เปิดให้มีการไถ่ถอนกองทุน LTF ที่ครบกำหนด