“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทาน เพื่อชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต และปฏิบัติตนให้แก่ประชาชน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 เป็นต้นมา ด้วยหลัก 3 ห่วง “ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน” ภายใต้ 2 เงื่อนไข “ความรู้และคุณธรรม” เป็นแนวทางปฏิบัติที่ใช้ได้จริง และหลายองค์กรนำหลักปรัชญาดังกล่าวไปใช้จนประสบความสำเร็จ รวมไปถึงการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้สนับสนุนการจัดการและแก้ไขปัญหาร่วมกันของคนในชุมชน โดยมุ่งเน้นความสามัคคีและสร้างความเข้มแข็งในชุมชน
หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหนึ่งในตัวอย่างของกลุ่มเกษตรกรที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ จนสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรมากว่า 44 ปีแล้ว นายภักดี ไทยสยาม ประธานกรรมการ บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด เล่าว่า จากพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์กว่าพันไร่ในอดีต สู่ชุมชนเกษตรกรรมที่เข้มแข็งในวันนี้ได้ เกิดจากแนวคิดของ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการปฏิรูปที่ดินมาปฏิบัติจริง ด้วยโมเดล 4 ประสาน 3 ประโยชน์ จากความร่วมมือของ 4 ฝ่าย คือ ภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร เพื่อรองรับการพัฒนาเกษตรกรรมทันสมัย ก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ประการ คือ ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อประชาชน และสุดท้ายเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ซึ่งเป็นหนึ่งในค่านิยมองค์กรของเครือซีพีและซีพีเอฟ
โมเดลดังกล่าวทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงที่ดินและแหล่งเงินทุน ด้วยรูปแบบการให้ที่ดินทำกิน โรงเรือนเลี้ยงสุกร แม่พันธุ์สุกร พร้อมองค์ความรู้ที่เจ้าหน้าที่มาแนะนำ เพื่อเป็นอาชีพตั้งต้นให้เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน สามารถลงหลักปักฐานและมีอาชีพที่มั่นคง จากจุดเริ่มต้นของโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2520 การดำเนินงานล่วงเลยไป 10 ปี เกษตรกรก็สามารถพลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้ง ให้กลายเป็นชุมชนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจากอาชีพการเลี้ยงสุกร ควบคู่กับการเพาะปลูกพืช ก่อเกิดรายได้และสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน เกษตรกร 50 ราย ได้รับมอบกรรมสิทธิ์ในที่ดิน บ้านพักอาศัย โรงเรือนเลี้ยงสุกร จากความอุตสาหะของพวกเขาเอง และมีการขยายการเลี้ยงสุกรตามกำลังความสามารถของตนเอง ตลอดจนต่อยอดสู่การทำการเกษตรอื่นๆอีกมากมายในปัจจุบัน
“นอกจากการเดินหน้าอาชีพอย่างมั่นคงแล้ว เกษตรกรได้ประยุกต์หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ในการดำเนินชีวิต เน้นความพอประมาณ ความพอเพียง และพัฒนาชุมชนไปพร้อมๆกัน เมื่อควบคู่กับสิ่งที่บริษัทมอบให้ จึงไม่ใช่แค่การสร้างงาน สร้างอาชีพ แต่เป็นการพลิกชีวิตให้ทุกคนมีที่อยู่ ที่ทำกิน มีอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญยังสามารถส่งต่ออาชีพให้ทายาทได้จากรุ่นสู่รุ่น” นายภักดี กล่าว
ทางด้าน ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งซีพีเอฟเข้าไปร่วมสนับสนุนอิงตามความต้องการของชุมชน ด้วยการส่งเสริมการสร้างอาชีพเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มรายได้ และยกระดับให้ชุมชนเข้มแข็งสามารถยืนหยัดด้วยตัวเอง ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง
นายชูชีพ ชัยภูมิ ประธานศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร บอกว่า ชาวซับรวงไทรปลูกผักปลอดสารเป็นอาชีพเสริม จากการทำข้าวนาปี ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง โดยสมาชิกเข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่กว่า 30 ไร่ของศูนย์ฯ แต่ที่ผ่านมามีปัญหาใหญ่คือ ปริมาณน้ำที่ใช้ไม่เพียงพอต่อการเพราะปลูก ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี จนกระทั่ง ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อ ของซีพีเอฟ เข้ามาเป็นสมาชิกของชุมชนและได้มาจัดกิจกรรมสานเสวนาเพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของชุมชน ทำให้ทราบว่าเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 2,462 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าความยากจนเฉลี่ยประเทศไทย (จ.ชัยภูมิ) บริษัทจึงเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ด้วยโครงการ “สร้าง สาน สุข วิถีชุมชน” โดยสร้างหอกระจายน้ำเพื่อการเกษตร และทำหอพักน้ำเพื่อแปลงเกษตร 21 หอ สำหรับเกษตรกรกลุ่มปลูกผักทั้ง 43 ราย ทุกคนจึงได้รับการกระจายน้ำอย่างทั่วถึง ผักปลอดภัยไร้สารเคมี 100% บ้านซับรวงไทร กลายเป็นต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดชัยภูมิ ซีพีเอฟช่วยต่อยอดสู่การก่อตั้ง “ตลาดผักสด ผลไม้ ปลอดภัย” บ้านซับรวงไทร เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ พร้อมร่วมดูแลวางแผนการตลาด และหาช่องทางการจำหน่ายผ่านออนไลน์ ทำให้ชุมชนมีอาชีพมั่นคง มีรายได้ที่ยั่งยืน
ขณะที่ “ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนวัว” ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ที่ธุรกิจไก่พ่อแม่พันธุ์ ซีพีเอฟ นครราชสีมา ร่วมพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนบ้านดอนวัวและชุมชนอื่นๆ พร้อมขยายผลต่อยอดสู่การพัฒนาตนเองของชุมชน ด้วยการส่งเสริมอาชีพให้ชาวชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนให้กับสมาชิกของศูนย์ฯ และก้าวสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน “ลาดบัวขาวโมเดล” ที่มีนักท่องเที่ยวสนใจเข้าเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง นายบัญชา ขาวเมืองน้อย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ เล่าว่า ด้วยวิถีของชุมชนบ้านดอนวัวส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก จากการสานเสวนาระหว่างบริษัทกับชุมชน พบว่าปัญหาของเกษตรกรคือ ต้นทุนการผลิตสูงจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และรายได้จากการผลิตสินค้าเกษตรลดลง จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย เกษตรอำเภอ และหมอดิน เข้าไปให้คำแนะนำในการปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกพืชแบบผสมผสาน มีการถอดบทเรียนให้ความรู้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกศูนย์เรียนรู้ฯ และขยายผลสู่ชุมชน จนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และมีผลผลิตตามฤดูกาลเพื่อจำหน่ายตลอดทั้งปี
โรงเพาะฟักลูกกุ้งภาคตะวันออก ซีพีเอฟ จังหวัดตราด ก็ได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์เช่นเดียวกัน นางลัดดาวัลย์ ธนะประสพ รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า โรงเพาะฟักลูกกุ้ง ริเริ่มดำเนินการปลูกผักปลอดภัยให้กับเพื่อนๆพนักงาน มาตั้งแต่ปี 2553 และได้ขยายสู่โครงการทำปุ๋ยใบไม้และทำน้ำหมัก ต่อยอดสู่การทำปุ๋ยไส้เดือน และพัฒนาเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพนาโน ที่ขยายไปสู่ชุมชนและโรงเรียนรอบข้าง ในปีพ.ศ. 2557 และปีเดียวกันได้ริเริ่มโครงการ “เดินตามรอยเท้าพ่ออย่างพอเพียง” ด้วยการทำปุ๋ยและปลูกผักทานฟรีให้กับเพื่อนพนักงาน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับทุกคน จากนั้นได้ขยายความสำเร็จสู่การสนับสนุนโครงการ “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” แก่นักเรียนโรงเรียนวัดบางปิดล่าง (ราษฎร์สงเคราะห์) และส่งเสริมให้ชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง ทำปุ๋ยหมักชีวภาพนาโน กลายเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับชาวชุมชน จากนั้นได้ริเริ่มโครงการลดขยะในชุมชน ด้วยโครงการ “มหัศจรรย์ถังหมักรักษ์ดิน” ที่ขยายผลสู่ชุมชน และโรงเรียนต่างๆจนถึงปัจจุบัน ทำให้โรงเพาะฟักลูกกุ้งภาคตะวันออก ซีพีเอฟ ได้รับเลือกจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้ได้รับรางวัลในโครงการ “แรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง”
ซีพีเอฟ น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงใช้ในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังนำหลักปรัชญาดังกล่าวมาปฏิบัติเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยยึดแนวทางความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน สามารถพึ่งพาตนเอง อยู่บนพื้นฐานการเติบโตอย่างยั่งยืน