กรมชลประทาน ประสานหลายหน่วยงานประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรงดการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง หลังการเก็บเกี่ยว พร้อมทั้งเดินหน้าบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม(RULE CURVE) ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ซึ่งปัจจุบัน(17 ส.ค. 64) เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,223 ล้าน ลบ.ม. หรือ 33% ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,527 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 8% ของความจุอ่างรวมกัน มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ถึงปัจจุบัน รวมกัน 2,738.30 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังคงมีการระบายน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการระบายน้ำไปแล้วรวมกว่า 3,222 ล้าน ลบ.ม. ประกอบกับปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว 6.39 ล้านไร่ หรือ 80% ของแผนการเพาะปลูก และทำการเก็บเกี่ยวไปแล้ว 0.518 ล้านไร่
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานต่างๆในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริม และบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามนโยบายของรัฐบาล และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับเกษตรกรที่ทำการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีไปแล้ว ขอความร่วมมือให้งดทำการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง พร้อมทั้งกำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2564 ของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด พร้อมเดินหน้าเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าต่อไป