นายชาญชัย กงทองลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทรีนีตี้ วัฒนา (TNITY) เปิดเผยว่า บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิงวดครึ่งปี 2564 จำนวน 109 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1,109% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 10.80 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้รวม 469.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 108% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 225.37 ล้านบาท เป็นผลจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ที่ทำได้ 273.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.15% จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 223.91 ล้านบาท
สำหรับรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ หลักๆ จะมาจาก 1. รายได้จากนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น 40.91% มาอยู่ที่ 175.03 ล้านบาท จาก 124.21 ล้านบาท ในงวดหกเดือนแรกปี 2563 ซึ่งเป็นไปตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวมของตลาดหลักทรัพย์ที่ครึ่งปีแรกปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันขึ้นมาอยู่ที่ 97,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.05% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปี2563 ซึ่งอยู่ที่ 68,617 ล้านบาทต่อวัน 2.รายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ 57.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.50% จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 39.33 ล้านบาท เป็นผลจากเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นในระหว่างงวด
นอกจากนี้บริษัทยังมีกําไรและผลตอบแทนจากเงินลงทุนรวม 108.83 ล้านบาทในงวดหกเดือนแรกปี 2564 ขณะที่ในงวดเดียวกันของปี 2563 บริษัทมีขาดทุนและผลตอบแทนจากเงินลงทุนรวม 71.35 ล้านบาท และบริษัทยังมีรายได้ดอกเบี้ยจำนวน 55.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.05 % เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 48.69 ล้านบาท
นายชาญชัย กล่าวว่า จากผลดำเนินงานของบริษัทที่เติบโตท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2564 ได้อนุมัติให้จ่ายเงินปันผลงวดระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ 3.57% กำหนดวันขึ้นเครื่องหมายสิทธิรับเงินปันผล (XD) ในวันที่ 27 ส.ค.และวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 30 ส.ค.และผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผลในวันที่ 10 ก.ย.2564
สำหรับผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 42.30 ล้านบาท ลดลง 55.37% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 94.75 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศที่ยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดหนักในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ผันผวนมาก โดยดัชนีลดลงจากสิ้นเดือน มี.ค.2564 ที่ 1,587.21 จุด ไปจุดต่ำสุดในเดือน เม.ย.ที่ 1,541.12 จุดและปรับตัวสูงขึ้นไปทําจุดสูงสุดในเดือนมิ.ย.ที่ 1,636.56 จุด ก่อนจะกลับมาที่ 1,587.79 จุด ณ สิ้นเดือน มิ.ย.จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันสําหรับไตรมาส 2 อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีแรกนักลงทุนรายย่อยยังมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุน โดยมีสัดส่วนการลงทุน 48.9% ใกล้เคียงงวดเดียวกันปีก่อนที่ 48% นักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นมาอยู่ 36.0% จาก 33.6% ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศมีสัดส่วนการซื้อขายลดลงมาอยู่ที่ 6.3% จาก 9.8% สําหรับบัญชีบริษัทหลักทรัพย์มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ใกล้เคียงกับงวดปีก่อนที่ 8.7%
ด้านฐานะทางการเงิน ณ 30 มิ.ย.2564 บริษัทมีสินทรัพย์รวมจำนวน 6,123.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่มีจำนวน 5,043.36 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจํานวน 3,079.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2,404.69 ล้านบาทและเงินให้กู้ยืมอื่น จํานวน 1,337.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,001.51 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วน 50.29% และ21.85 % ของสินทรัพย์รวมตามลําดับ