กรมชลฯ เร่งบริหารจัดการน้ำตามแผน ยันแล้งนี้น้ำเพียงพอ พร้อมเตรียมรับมือหน้าฝน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้ง โดยทุกอย่างเป็นไปตามแผน มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งนี้แน่นอน และสามารถมีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงหน้าฝนอีกประมาณ 8,000 ล้านลบ.ม. นอกจากนี้ยังมีการวางแผนสำรองน้ำไว้ใช้เป็นเวลา 3 เดือน คือเดือนมิ.ย.-ส.ค. เพื่อบริหารความเสี่ยงกรณีฝนทิ้งช่วง

ในเบื้องต้น เดือนพ.ค. ลุ่มเจ้าพระยา จะมีน้ำสำรองไว้ใช้ไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านลบ.ม. นอกจากนี้ ในด้านของระดับค่าความเค็ม ก็สามารถควบคุมได้เช่นกัน ทำให้มั่นใจว่า มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคแน่นอน

ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า วันที่ 1 เดือนพฤษภาคม ถือว่าเป็นวันเริ่มต้นของฤดูฝน ทั้งนี้ กรมชลประทานได้สั่งการ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับช่วงฤดูฝนนี้ ดังนี้

  1. ตรวจสอบความมั่นคงของอ่างเก็บน้ำ, เขื่อนต่างๆ ที่เป็นอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำสายหลัก ให้สามารถใช้งานได้
  2. การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ตะกอนดิน หรือวัชพืชต่างๆ เช่น ผักตบชวา ต้องเก็บให้หมดภายใน 30 เดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 นี้ฃ
  3. เร่งรัดแผนงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอก และก่อสร้างต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อทันกับการกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในฤดูแล้งปีหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวโน้มสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (ตัวเลขเมื่อวันที่ 22 มี.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 39,197 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 15,268 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 13,030 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,629 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,933 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,827 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ