กรมชลประทาน ย้ำเหลือระยะเวลาอีกสามเดือนจะสิ้นสุดฤดูแล้ง ขอความร่วมมือทุกฝ่ายใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน(1 ก.พ. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน ทั้งสิ้น 44,358 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 20,427 ล้าน ลบ.ม. และจนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 7,851 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,019 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 4,323 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 2,260 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของแผนฯ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีจำนวนจำกัด จำเป็นต้องจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ตามลำดับความสำคัญ โดยเน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ควบคุมคุณภาพน้ำ ตลอดจนรักษาเสถียรภาพของคันคลองไม้ผล ไม้ยืนต้น และสำรองน้ำไว้สำหรับช่วงต้นฤดูฝนหน้า ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการทำนารอบ2(นอกแผน)ได้อย่างเพียงพอ
กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งสำรวจพื้นที่เพาะปลูก สำหรับการวิเคราะห์และคำนวณการใช้น้ำ เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในปีต่อๆ ไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
และเน้นย้ำให้ประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำผ่านศูนย์การเรียนรู้ กลุ่มผู้ใช้น้ำ และช่องทางอื่นๆ เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนรวมทั้งเกษตรกรให้รับทราบอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนหรือหน่วยใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังสำนักงานชลประทาน หรือโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร.1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา