ก่อนอื่นมาทบทวนกันอีกครั้งว่า การลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) คือลงทุนในหลักทรัพย์แบบสม่ำเสมอด้วย “จำนวนเงินที่เท่ากัน” โดยกำหนด “ความถี่” และ “ระยะเวลา” ที่ลงทุน เช่น กำหนดว่าจะลงทุนในหุ้น “ก” ทุกวันที่ 1 ของเดือน ด้วยเงิน 10,000 บาททุกเดือนต่อเนื่อง 5 ปี จะทำให้เราซื้อหุ้น “ก” ได้ใน “ราคาต้นทุนแบบถัวเฉลี่ย” ซึ่งจะทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวมากกว่า
ครั้งที่แล้ว เราพูดถึงข้อแรกที่แนะนำให้ลงทุน DCA แบบอัตโนมัติกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) มากกว่าการลงทุนด้วยตัวเอง เพราะระบบจะตัดเงินในบัญชีไปลงทุนโดยอัตโนมัติ โดยไม่สนใจว่าราคาหุ้นตอนนั้นจะขึ้นหรือลง ทำให้เรา “ตัดอารมณ์ส่วนตัว” ออกไปได้
ข้อ 2.ระหว่าง DCA แบบกำหนดจำนวนเงินกับแบบกำหนดจำนวนหุ้นที่จะซื้อ พบว่า DCA แบบกำหนดจำนวนเงินได้รับความนิยมมากกว่า เพราะจากสถิติพบว่ามีความผันผวนของอัตราผลตอบแทนต่ำกว่า!! เนื่องจากช่วงที่ราคาหุ้นขึ้นจำนวนหุ้นที่ได้รับก็จะน้อยลง แต่ช่วงที่ราคาหุ้นลงก็จะได้หุ้นจำนวนมากขึ้น ทำให้ระยะยาวต้นทุนเฉลี่ยแบบกำหนดเงินจะต่ำกว่าและผันผวนน้อยกว่า DCA แบบกำหนดจำนวนหุ้นที่จะซื้อในจำนวนเท่ากัน ไม่ว่าราคาจะขึ้นหรือลงก็ตาม
3.เลือกลงทุน DCA แบบไหนดี รายปี รายเดือน หรือรายวัน ซึ่ง งานวิจัยของ Financial Planning Association พบว่าการลงทุนด้วยความถี่ที่ต่างกัน ไม่มีความแตกต่างกันชัดเจนในแง่อัตราผลตอบแทน แต่หากพิจารณาความเสี่ยง หรือความผันผวนของผลตอบแทนกลับพบว่ายิ่งความถี่ในการลงทุนมากเท่าไร ความเสี่ยงของผลตอบแทนก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น จึงแนะนำให้ลงทุนตามรอบรายได้ เช่น ได้เงินเดือนก็ลงทุนเป็นรายเดือน แต่หากรายได้ไม่แน่นอนอาจสะสมเงินก่อนและลงทุนปีละ 1-2 ครั้ง
4.วันที่เลือกตัดเงินในบัญชีมาลงทุนต้นเดือน-กลางหรือปลายเดือนดี?? งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าวันที่ลงทุนแบบ DCA ในแต่ละเดือนนั้น ไม่ได้มีผลต่ออัตราผลตอบแทนอย่างชัดเจน แต่วันที่ควรเลือกลงทุนมากที่สุดคือวันที่เราสะดวกที่สุดมากกว่า เช่น ลงทุนวันเดียวกับวันที่ได้รับเงินเดือน เพื่อจะได้ไม่นำเงินไปใช้จ่ายด้านอื่นๆจนอาจทำให้ไม่มีเงินเหลือสำหรับลงทุนตามที่ตั้งใจ
5.ลงทุนแบบ DCA เดือนละเท่าไหร่ดี?? ตอบได้ทันทีว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการลงทุนคือจำนวนเงินที่ลงทุน ระยะเวลาและอัตราผลตอบแทน ยิ่งลงทุนมากเท่าไร โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายก็จะเร็วขึ้น เช่น หากลงทุนด้วยเงิน 1,000 บาท 2,000 บาท และ 5,000 บาทต่อเดือน โดยได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี ต่อเนื่อง 20 ปี การลงทุนเดือนละ 1,000 บาท ณ ปีที่ 20 จะมีเงิน 759,000 บาท ลงทุน 2,000 บาท จะมีเงิน 1,518,000 บาท ลงทุน 5,000 บาท จะมีเงิน 3,796,000 บาท
ลงทุนมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่เป้าหมายและความสามารถในการลงทุนของแต่ละคน ทางที่ดีค่อยๆเพิ่มเงินลงทุนตามรายได้ที่ได้รับมากขึ้นในแต่ละปี มีวินัยลงทุนต่อเนื่องและเลือกช่องทางลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี ก็จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้อย่างแน่นอน!!
ที่มา คอลัมน์ รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง โดยคุณนายพารวย หน้าเศรษฐกิจ นสพ.ไทยรัฐ