บทความโดย ผศ. ดร. นายสัตวแพทย์ ดุสิต เลาหสินณรงค์ และ รศ. ดร. นายสัตวแพทย์ กัมพล แก้วเกษ หน่วยสร้างเสริมสุขภาพและผลผลิตสุกร ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การเลี้ยงสุกรของประเทศไทยมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยไม่น้อย ระบบการเลี้ยงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นระดับแนวหน้าของภูมิภาคเอเชีย สัตวแพทย์สุกรของไทยได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษาในหลายประเทศของภูมิภาคนี้ เช่น จีน เวียดนาม กัมพูชา ขณะที่การผลิตสุกรส่วนใหญ่ของบ้านเรา ยังเป็นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมีบริโภคอย่างเพียงพอ ไม่เคยขาดแคลน
แม้สุกรไทยจะยืนหนึ่งเป็นสุกรที่มีมาตรฐานสูงของเอเชีย แต่ในประเทศเรากลับมีข่าวเท็จเกี่ยวกับโรคระบาดในสุกรเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์หลายครั้ง อาทิ ข่าวสุกรป่วยเป็นเอดส์ ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงคือ โรคเอดส์ไม่ใช่โรคของสุกร และไม่มีโรคนี้ในตำราทั้งไทยและเทศ ซึ่งเป็นไปได้ว่าข่าวเท็จที่เกิดขึ้นนี้ มุ่งหวังเพื่อทำให้สูญเสียเสถียรภาพราคาสุกร เนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งตระหนก เป็นผลให้พ่อค้าคนกลางอ้างภาวะตลาด และกดราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มของเกษตรกร แต่นำไปขายต่อในราคาเนื้อสุกรที่ปรับสูงขึ้น โดยอ้างว่าสุกรตายมากเนื่องจากโรคระบาด ทำให้พ่อค้าได้กำไรแต่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขาดทุน หรือแม้แต่กรณีข่าวการระบาดของโรค PRRS ในประเทศไทยอย่างที่เกิดขึ้นล่าสุดใน จ.สระแก้ว และโรค ASF ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนก และเกรงว่าจะติดต่อสู่คนได้จากการบริโภคเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ ซึ่งขอยืนยันซ้ำอีกครั้งว่าโรคทั้งสองของสุกรนี้ ไม่ติดต่อสู่คน และขออธิบายเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้
โรค PRRS (พีอาร์อาร์เอส หรือ เพิร์ส) เป็นโรคติดต่อในสุกรเท่านั้น เกิดจากเชื้อไวรัส ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจของสุกร โรคนี้พบราว พ.ศ.2523 จนกระทั่งปี พ.ศ.2534 ได้มีการบัญญัติชื่อโรคนี้ว่า “Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome” หรือ PRRS โรคนี้พบได้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เป็นโรคที่ก่อปัญหาและความเสียหายให้กับการเลี้ยงสุกรจนถึงปัจจุบัน สำหรับการป้องกันนั้นปัจจุบันมีวัคซีนจำหน่าย และเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วัคซีนนี้ ซึ่งช่วยลดการสูญเสียได้ ทั้งนี้ โรคนี้ไม่เคยมีรายงานการติดต่อสู่คน จึงไม่ต้องกังวลต่อการบริโภค
ข่าวเท็จที่ส่งต่อกันมานั้น จะเชื่อมโยงโรค PRRS กับโรคเอดส์ โดยอ้างว่าสุกรเป็นเอดส์ห้ามบริโภค ทั้งสองโรคนี้เหมือนกันที่ไวรัสก่อโรคเป็นชนิด RNA สำหรับความแตกต่างระหว่างโรค PRRS กับโรคเอดส์มีหลายประการ สิ่งแรกคือ ไวรัสก่อโรคเป็นคนละชนิดกัน ตามที่ทราบกันว่าโรคเอดส์นั้นเกิดจากเชื้อไวรัส HIV อยู่ในวงศ์ Retroviridae ขณะที่ไวรัส PRRS อยู่ในวงศ์ Arteriviridae สำหรับอาการของโรคก็แตกต่างกัน แม้ว่าไวรัสทั้งสองนี้จะโจมตีระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันถูกกด (immunosuppression) แต่โรค PRRS จะมีอาการหลัก 2 ระบบคือ ระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ กล่าวคือ แม่สุกรจะพบปัญหาระบบสืบพันธุ์เป็นหลัก ขณะที่สุกรขุนจะมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ต่างจากโรคเอดส์ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อระบบต่าง ๆ ไม่เน้นระบบใดระบบหนึ่ง ดังนั้นโรค PRRS จึงไม่ใช่โรคเอดส์ในสุกร และไม่ติดต่อก่อโรคในคน
ส่วนโรค ASF (เอเอสเอฟ) เป็นโรคจากเชื้อไวรัสเก่าแก่โรคหนึ่งของสุกร พบครั้งแรกปี พ.ศ.2452 ที่ประเทศเคนยา มีชื่อเต็มว่า “African Swine Fever” เนื่องจากชื่อโรคภาษาอังกฤษตรงกับโรคสุกรโรคหนึ่งคือ “Swine Fever” หรือ “Classical Swine Fever” (CSF) โดยโรคนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า hog cholera ซึ่งคำว่า “cholera” แปลว่า “อหิวาตกโรค” ดังนั้น จึงบัญญัติชื่อโรค ASF ภาษาไทยว่า “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” โดยโรคนี้ยังไม่มียาและวัคซีน เป็นโรคที่สร้างความเสียหายแก่การเลี้ยงสุกรอย่างมาก หลายประเทศที่มีโรคนี้ระบาด ทำให้สุกรตายอย่างใบไม้ร่วง และยากที่จะกำจัด ด้วยชื่อโรคทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดว่า โรคนี้จะติดต่อสู่คนได้ และก่อให้เกิดโรคอหิวาตกโรค เนื่องจากชื่อโรคมีคำว่า “อหิวาต์” ซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรงในคน เป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตได้ จึงทำให้ผู้ไม่หวังดีสร้างข่าวเท็จ ทั้งนี้ โรคอหิวาตกโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ขณะที่โรค ASF เกิดจากเชื้อไวรัส โรค ASF นี้มีมานานกว่าร้อยปี แต่ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโรคนี้ ดังนั้น จึงไม่ใช่โรคอหิวาห์ตกโรค และไม่ติดต่อก่อโรคในคน
โรค ASF นี้มีการระบาดในประเทศจีนเมื่อปีพ.ศ.2561 ทำให้โรคนี้มีความสำคัญต่อประเทศไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าแล้ว มีมาตรการการเฝ้าระวังและป้องกันโรค โรคนี้ระบาดเข้าสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเมียนมา ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ยังคงป้องกันโรคนี้ได้ และยังไม่มีการระบาด ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันทุกภาคส่วนทั้ง หน่วยงานรัฐ (นำโดยกรมปศุสัตว์) หน่วยงานเอกชน (ฟาร์มสุกร) มหาวิทยาลัย และสัตวแพทย์สุกร
ความที่โรคนี้ยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้ป้องกันโรคได้ ไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัส ดังนั้น แนวทางเดียวคือการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ประเทศไทยสามารถดำรงสถานภาพการเป็นประเทศปลอดโรค ASF ได้ จึงส่งผลดีต่อธุรกิจการเลี้ยงสุกรและเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วยการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ ลดภาระของรัฐบาลในภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้เป็นอย่างดี.