การท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน ปัจจุบัน เป็นที่นิยมกันมาก เพราะผู้ร่วมทริปได้มีโอกาสเข้าถึง สัมผัส วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ของคนในชุมชน หรือย่านท่องเที่ยวนั้นอย่างใกล้ชิด ยิ่งปัจจุบัน คนในชุมชน ที่มีการรวมกลุ่มเข้มแข็ง และเห็นความสำคัญของของดีในชุมชนตัวเอง มักจะมีการจัดกลุ่มเดินเที่ยวเล็กๆ แบบวันเดย์ทริป ก็เรียกความสนใจให้มีผู้เข้าร่วมทริปกันอย่างมากทีเดียว
เช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวย่านตลาดพลู ซึ่งที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินชื่อตลาดพลู ก็มักจะนึกถึงแหล่งขึ้นชื่อเรื่องอาหารอร่อย ซึ่งกระจุกตัวอยู่บริเวณสถานีรถไฟ และร้านอาหารต่างๆ บริเวณถนนเทอดไท แต่จริงๆแล้ว ยังมีอีกหลายสิ่งที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ประวัติความเป็นมา วิถีชาวบ้าน ความเป็นอยู่ และจุดท่องเที่ยว อยู่ที่ตลาดพลูอีกมากมาย
ตลาดพลู เป็นอีกพื้นที่ที่มีวัดวาอารามตั้งอยู่มากมาย แอดมินจ้ามีโอกาสได้ร่วมทริปสั้นๆ แต่สุดประทับใจของเพจถามสิ..อิฉันคนตลาดพลู และ พีรวัฒน์ บูรณพงศ์ เจ้าของเพจ Perawat Buranapong รวมตัวกับเพื่อนๆ ในย่านนี้ จัดกิจกรรมเดินเที่ยวย่านตลาดพลู ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อให้คนรู้จักตลาดพลูมากขึ้น และร่วมอนุรักษ์คุณค่าของชุมชนย่านตลาดพลู
แอดมินเองอยู่ในย่านฝั่งธนฯ มาตั้งแต่เกิด มาตลาดพลูก็บ่อย แต่ส่วนใหญ่จะมาหยุดแค่ย่านร้านอาหารแค่นั้น ไม่มีโอกาสเดินลัดเลาะเข้าไปในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเช่นนี้มาก่อน ทริปนี้ นัดเจอกันหน้าตลาดมะลิทอง ตลาดที่แอดมินขับรถผ่านบ่อยมาก และเห็นเป็นแค่ตลาดร้างๆ มีคนเปิดแผงขายอยู่หน้าตลาดไม่กี่แผง แต่จริงๆ แล้ว เป็นตลาดเก่าแก่ ที่ในอดีตคึกคักมาก ก่อนที่ซบเทราในปัจจุบัน เพราะเป็นตลาดค่อนข้างเล็ก ไม่มีที่จอดรถ และช่วงต้นๆ ของถนนเทอดไท ก็มีร้านค้า และตลาดต่างๆ ดักคนไปจนหมด ทำให้ปัจจุบัน ตลาดมะลิทอง ไม่ได้มีการปรับปรุงอะไร ปล่อยไว้ตามสภาพเดิม
เราเริ่มทริปด้วยสถานที่แรก คือ วัดขุนจันทร์ โดยไกด์ท้องถิ่นพาเดินมาตามทางเข้าวัดสมัยก่อน ที่เป็นซอยเดินเท้าเล็กๆ ไม่ใช่ทางเข้าวัดติดถนนเช่นในปัจจุบัน วัดขุนจันทร์ เคยโดนระเบิดสมัยสงครามโลกจนสิ่งก่อนสร้างดั้งเดิมต่างๆของวัด โดนไฟไหม้ เสียหายไปหมด เหลือแต่หลวงพ่อโต และพระสังขกระจาย เท่านั้น ปัจจุบัน สิ่งก่อสร้างต่างๆในวัดทั้งโบสถ์ วิหาร พระปรางค์ ลานหลวงพ่อใหญ่ พระราหู ล้วนแต่สร้างขึ้นมาใหม่ในภายหลัง
ด้านหลังวัด มีสะพานข้ามคลอง พาเราเข้าสู่อีกวัดหนึ่ง คือ วัดอัปสรสวรรค์ หรือ วัดหมู บนทางเดินข้ามสะพาน มองไปจะเห็นภาพสวยงามขององค์พระใหญ่สององค์ ของสองวัด คือ พระพุทธชินราช(จำลอง) หรือ หลวงพ่อใหญ่ของวัดขุนจันทร์ กับ พระพุทธธรรมกายเทพมงคล ของวัดปากน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ตั้งตระหง่านอยู่ริมสองฝั่งคลอง
ข้ามสะพานมา จะเจอกับศาลาการเปรียญ ที่เป็นเรือนไม้เก่า ซึ่งปัจจุบันปิด ไม่ให้คนขึ้นไป เพราะมีอายุเก่าแก่มาก เกรงว่าจะะรับน้ำหนักคนไม่ไหว เราเดินลอดใต้ศาลากลางเปรียญ ไปพื้นที่รกร้างด้านหลัง ซึ่งเคยเป็นตลาดและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านมาก่อนที่จะถูกรื้อถอน และรอการบูรณะอยู่
วันที่เรามา มีงานบุญใหญ่ที่วัดอัปสรสวรรค์พอดี ทำให้คนเยอะและคึกคักมาก น่าเสียดายที่มีการประกอบพิธีในโบสถ์ เลยไม่ได้เข้าไปไหว้พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ในอุโบสถ
เราเดินต่อมาที่อาคารโรงเรียนวัดอัปสรสวรรค์ ซึ่งปิดตายมากว่า20 ปีแล้ว น่าเสียดายที่เรามีโอกาสได้เดินชมบริเวณด้านล่างเท่านั้น เนื่องจากผุ้ดูแลไม่อนุญาตให้ขึ้นไปชมด้านบนอาคาร ปัจจุบัน อยู่ในสถานะรอการบูรณะเช่นเดียวกัน พื้นอาคารด้านล่างว่ากันว่า มีลักษณะเอียงลาดไปทางหนึ่ง เนื่องจากแรงกระเทือนจากการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลก
จากนั้น เดินต่อไปด้านหลังของวัดที่ริมคลอง เพื่อไปชมอีกจุดไฮไลท์ นั่นคือ เสาประโคน ซึ่งเป็นเสาหินโบราณปักเพื่อบอกอาณาเขตพื้นที่ของกรุงธนบุรี สมัยพระเจ้าตากสิน โดยเสาประโคนนี้ อยู่อีกฟากฝั่งคลองบางกอกใหญ่ ในพื้นที่ที่เป็นอยุ่อาศัยของชาวบ้านในปัจจุบัน ซึ่งถ้าไม่บอก เราก็จะไม่ทราบเลยว่า เสาหินข้างศาลพระภูมินี้จะมีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งนอกจากจุดนี้ ยังมีอีกจุดที่มีเสาประโคนตั้งอยู่ คือตรงใต้ร้านโลงศพ ซึ่งอยู่เยื้องมาอีกฟากของคลองสายเดียวกัน
สถานที่ต่อไปที่เราเดินไปคือ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งเป็นวัดที่มีพื้นที่อาณาบริเวณกว้างใหญ่มาก ชมความงามขององค์พระใหญ่ พระพุทธธรรมกายเทพมงคล ความสูง 69 เมตร เท่ากับตึกสูง 20 ชั้น ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จอีกไม่นาน เพราะเทา่ที่แอดมินดู พบว่า งานสร้างองค์พระใหญ่เกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ จะมีคนมาเที่ยววัดเยอะมาก และระยะหลัง พบว่ามีคนเมียนมาที่เข้ามาทำงานบ้านเรา ชอบมาเที่ยวที่นี่เป็นจำนวนมาก
ต่อจากนั้น ออกจากวัด ข้ามฝั่งมาทางท่าภาษีเจริญ เราเดินต่อไปโดยเป้าหมายคือ บ้านของพี่ตี๋ ขุนโทนอโยธยา เจ้าของคณะแสดง กระตั้ว แทงเสือ ศิษย์พรพรหม การละเล่นที่มีมาตั้งแต่โบราณ สามารถหาชมได้จากงานวัดทั่วๆไป, งานสืบสานวัฒนธรรมต่างๆ และรับจ้างแสดงในงานบุญ งานพิธีต่างๆ ยกเว้นงานศพ พี่ตี๋ยังมีความสามารถด้านการทำกลองโทน ให้เสียงดี เสียงดัง โดยสะสมความรู้และประสบการณ์มาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบัน พี่ตี๋ก็ยังรับทำ และซ่อมกลองโทนอยู่ด้วย นอกหนือจากงานแสดงกระตั้วแทงเสือ
ก่อนที่จะปิดท้ายทริปนี้ด้วยการเดินเที่ยวทางเดินเท้าริมคลองภาษีเจริญ ซึ่งแต่เดิมทางภาครัฐ ต้องการปลุกกระแสการท่องเที่ยวย่านนี้ มีการทำท่าเรือไว้รองรับ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ความนิยมเท่าไร จนปัจจุบัน ท่าเรือเหล่านี้ก็ไม่ได้มีการใช้งาน
ก่อนที่ผู้ร่วมทริปจะแยกย้านกันกลับ บางท่านขอเดินไปตามคลองภาษีเจริญ เพื่อตรงออกไปถนนใหญ่ ขึ้นรถไฟฟ้ากลับ บางคนเลือกเดินกลับย้อนไปทางเดิมเพื่อออกทางตลาดพลู อาจจะแวะหาทานมื้อเย็นที่ย่านอาหารแถวถนนเทิดไท จบทริปนี้ด้วยความรู้สึกประทับใจ และเห็นว่า ถ้าชุมชนมีความเข้มแข็ง และเห็นความสำคัญของคุณค่าในชุมชนของตัวเองแล้ว ย่อมสะท้อนออกมาให้เห็นจากกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการรักษาของดีๆ ในชุมชนตัวเอง ให้คนภายนอก หรือคนในย่านใกล้เรือนเคียง ที่อาจไม่รู้ลึก รู้ซึ้ง ได้ทำความรู้จักย่านถิ่นที่อยู่ของตัวเองได้มากกว่าที่เคยเป็นมา.