ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 35,574 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุอ่าง เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 11,891 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 23% ของความจุน้ำใช้การร่วมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 8,684 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 35% ของความจุอ่าง เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,988 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 11% ของความจุน้ำใช้การได้รวมกัน
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีฝนตกมากกว่าปี 62 แต่ก็อยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 5% กรมชลประทาน จึงได้กำหนดมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงน้ำน้อย โดยจะเน้นเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด พร้อมได้ประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ หรือรอกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลผลิตเสียหาย นอกจากนี้ ยังได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่ง พิจารณาการใช้น้ำจากแก้มลิงธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำเสริมจากบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ มาช่วยเสริม และจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และเครื่องจักรเครื่องมือสนับสนุนอื่นๆ ที่สามารถออกปฏิบัติงานให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ด้านการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และกำชับให้ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่งให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ กำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างฯให้เป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกักที่ได้วางไว้ และบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่งให้ทราบโดยทั่วถึงกัน อีกทั้งยังได้จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว สามารถออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา