นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 25 มีนาคม 2563
คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี
คณะกรรมการฯ เห็นว่าการระบาดของ COVID-19 จะยังมีความรุนแรง และต้องอาศัยระยะเวลากว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กนง.สนับสนุนมาตรการดูแลผู้ได้รับ ผลกระทบอย่างตรงจุดของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปแล้ว รวมทั้งจะต้องดำเนินการช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องและเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงเห็นพ้องว่า ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุด กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี กรรมการ 2 ท่านเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกร้อยละ 0.25 เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวแรง
ทั้งนี้ ที่ประชุม เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 63 มีแนวโน้มหดตัวแรง เนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในหลายประเทศ ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น เป็นผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัว มาตรการด้านการคลังจึงต้องเป็นกลไกหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดูแลผู้ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในปี 2564 หากสถานการณ์ระบาดคลี่คลายลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบตามราคาพลังงานที่ลดลงและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัว
เสถียรภาพของตลาดการเงินไทยโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ปรับดีขึ้น หลัง ธปท. ออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงิน แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาซึ่งมีส่วนช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งโดยเฉพาะสกุลเงินหลักและมีแนวโน้มผันผวน ทั้งนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็งสะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูง
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี ระบบการเงินมีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุด โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่อาจด้อยลงในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวแรง จำเป็นต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลังเพื่อดูแลครัวเรือนและธุรกิจ SMEs