บทความโดย ภัทรธร ช่อวิชิต AISA นักลงทุนเน้นคุณค่า
ปัจจุบันนักลงทุนให้ความสนใจหุ้น IPO (หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายครั้งแรกแก่ประชาชนทั่วไป : IPO) หรือเรียกว่า หุ้นน้องใหม่ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยวิธีการวิเคราะห์หุ้น IPO ก็ไม่แตกต่างจากหุ้นทั่วไปที่ซื้อขายในตลาดหุ้น ซึ่งต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อขาย ซึ่งมีเคล็ดลับ ดังนี้
1. ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของหุ้น IPO
การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ซึ่งแสดงข้อมูลพื้นฐานของบริษัท เช่น นโยบายและภาพรวมการประกอบธุรกิจ ลักษณะการประกอบธุรกิจ ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ โครงการในอนาคต ผลการดำเนินงาน ข้อมูลสำคัญทางการเงินและการวิเคราะห์แผนการดำเนินธุรกิจในอนาคต หรือข้อมูลการจอง จัดจำหน่าย และการจัดสรรหุ้น เป็นต้น จึงเป็นเอกสารสำคัญในการตรวจสอบข้อมูลหุ้น IPO ก่อนลงทุน ซึ่งนักลงทุนสามารถดูข้อมูลนี้ได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต.
นอกจากข้อมูลหนังสือชี้ชวนแล้ว ยังต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานจากเว็บไซต์ของบริษัท เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การนำเสนอข้อมูลรายละเอียดหลักทรัพย์แก่นักลงทุน (Roadshow) เพื่อนำเสนอข้อมูลของผู้บริหารบริษัท ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดการจัดจำหน่ายหุ้น และข่าวสารจากสำนักข่าวต่าง ๆ อีกด้วย
2. วิเคราะห์ธุรกิจและการแข่งขัน
ก่อนตัดสินใจลงทุนหุ้น IPO ควรเข้าใจธุรกิจนั้น ๆ ให้ลึกซึ้ง โดยดูข้อมูลจาก “โครงสร้างและการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท” เริ่มต้นจากการอ่านข้อมูลพื้นฐานของบริษัท เช่น ประวัติการก่อตั้ง การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการสำคัญ วิสัยทัศน์ โครงสร้างรายได้ เป็นต้น
จากนั้นให้พิจารณาข้อมูลอุตสาหกรรมและการแข่งขัน เพื่อทำความเข้าใจลักษณะการดำเนินธุรกิจ คู่แข่ง การเติบโตของอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคต โดยนำข้อมูลและตัวเลขมาประมาณการรายได้เพื่อนำไปประมาณการกระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคตสำหรับการประเมินมูลค่าหุ้น
3. วิเคราะห์งบการเงิน
เริ่มต้นจาก “ข้อมูลสรุป (Executive Summary)” และเข้าไปดูรายละเอียดที่ “การวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ (MD&A)” ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหารต่อผลการดำเนินงาน ฐานะทางการเงินที่มีนัยสำคัญในงบการเงินงวดที่ผ่านมา รวมถึงปัจจัยหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ แนวโน้มที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินงาน ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่นักลงทุนนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน
นอกจากการอ่านงบการเงินสำหรับหุ้น IPO เพื่อตรวจสอบสุขภาพการเงินแล้ว ยังสามารถประเมินได้ว่ามีโอกาสเป็น “หุ้นเติบโต” หรือ “หุ้นปันผล” หากบริษัทมีนโยบายระดมทุนเพื่อนำไปเร่งขยายธุรกิจ จะพบว่าอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) จะอยู่ในระดับสูง (เช่น 20 – 30 เท่า) และยอดขายและกำไรจะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง และหากต้องการดูว่าบริษัทนำเงินที่ระดมทุนได้ไปลงทุนโครงการใด ให้ดูข้อมูล “โครงการในอนาคต”
สำหรับบริษัทที่มีลักษณะเป็นหุ้นปันผล ก่อนเข้าซื้อขายในกระดาน จะพบว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการลงทุนก็เป็นเพียงขยายตามอุตสาหกรรม และ D/E Ratio จะอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก
4. คาดการณ์การเติบโตจากโครงการในอนาคต
ข้อมูล “โครงการในอนาคต” จะอธิบายว่าบริษัทจะนำเงินที่ระดมทุนได้ไปทำอะไรบ้าง หากนำไปขยายธุรกิจ (เช่น สร้างโรงงานแห่งใหม่) และนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน ต้องสะท้อนให้เห็นได้ว่านำไปลงทุนขยายธุรกิจ จากนั้นก็ต้องติดตามข้อมูลว่า บริษัทจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มสร้างรายได้เมื่อไหร่
หากบริษัทนำเงินที่ระดมทุนไปใช้หนี้ หากเป็นหนี้สินที่กู้มาเพื่อขยายโรงงานก่อนเข้าจดทะเบียนก็ไม่มีปัญหา เพราะทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายจะปรับลดลงในไตรมาสถัดไป ผลลัพธ์ คือ กำไรจะเพิ่มขึ้น D/E Ratio ลดลง ในทางกลับกัน หากช่วงก่อนจดทะเบียน บริษัทไม่มีการขยายธุรกิจ สินทรัพย์เท่าเดิม ขณะที่หนี้สินเพิ่มขึ้น แต่กำไรสะสมลดลง ที่สำคัญข้อมูล “โครงการในอนาคต” ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่านำเงินไปลงทุนอะไร นักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น
5. คำนวณราคาหุ้นที่เหมาะสม
ราคาหุ้น IPO ที่เหมาะสม สามารถดูจาก P/E Ratio ปัจจุบัน โดยพิจารณาในข้อมูลสรุป (Executive Summary) โดยคำนวณจากกำไรย้อนหลัง 4 ไตรมาสหารด้วยจำนวนหุ้นหลัง IPO หากหุ้นที่มีการเติบโตมักจะขายราคา IPO ในราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น นักลงทุนต้องทำการบ้านเรื่องการเติบโตในอนาคตว่าบริษัทจะเติบโตจากปัจจัยอะไรบ้างและยาวนานแค่ไหน (สามารถใช้ข้อมูลบทวิเคราะห์เข้ามาประกอบด้วย)
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าการประเมินมูลค่าธุรกิจทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจและข้อมูลที่มี เช่น เปรียบเทียบราคา IPO กับ มูลค่าตามบัญชี (P/BV) หรือกำไรต่อหุ้นที่คาดการณ์ของบริษัท แล้วนำมาเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดราคา IPO โดยบางครั้งบริษัทอาจตั้งราคาจองซื้อ IPO สูงเกินไป ทำให้นักลงทุนไม่มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี หรือประเมินมูลค่ากิจการเอง โดยนำค่า P/E, P/BV หรือ P/Sales ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมคูณกับ EPS, BVS หรือ Sales ที่คาดการณ์ของบริษัท หรือใช้วิธี DCF (เหมาะกับธุรกิจที่คาดการณ์กระแสเงินสดในอนาคตได้) เมื่อได้มูลค่าที่เหมาะสมของกิจการแล้วนำไปเทียบกับราคา IPO ว่ามี Upside Gain หรือไม่ และอยู่ในระดับที่น่าสนใจลงทุนไหม