บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า และอากาศที่ดี พร้อมทั้งส่งเสริมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแด่เกษตรกร คู่ค้าธุรกิจ พนักงาน ชุมชน และเยาวชน ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมสร้างสมดุลธรรมชาติคืนสู่สังคม สนับสนุนความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ
นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสุงสุด สายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันลดผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืน ตามแนวทาง ESG (Environment Social Governance) และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคที่ประชาชนทุกคนในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งทรัพยากรป่า ไม้ น้ำ และได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน สนับสนุนความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“เราตระหนักดีว่า ในการดำเนินธุรกิจ ต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซีพีเอฟ มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Business) คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำ อากาศ ต้นไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างธรรมชาติที่ดีให้กับสังคม และสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ ”
ซีพีเอฟกำหนดประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสู่ความยั่งยืนของบริษัทฯ อาทิ การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Management) การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ( Biodiversity and Ecosystem) การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Climate Change Management and Net-Zero)
การดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิต พัฒนามาตรฐานฟาร์มสีเขียว (Green Farm) บริหารจัดการฟาร์มสุกรรักษ์โลกที่เน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิดที่ทำความเย็นด้วยการระเหยของน้ำหรือระบบอีแวป (EVAP) ใช้ระบบบำบัดน้ำด้วยไบโอแก๊ส (Biogas) ช่วยลดกลิ่น กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ลดผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย และระบบอัตโนมัติมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตอาหารสัตว์ กระบวนการผลิตอาหาร ให้ความสำคัญกับการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน โดยร่วมมือกับ กลุ่ม SCG พัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทฯได้จัดทำนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายร้อยละ 100 ของการจัดหาวัตถุดิบหลัก ได้แก่ ข้าวโพด ปลาป่น น้ำมันปาล์ม กากถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง ต้องไม่มาจากแหล่งที่มีการตัดไม้ทำลายป่า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยึดแนวทาง “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดมาใช้ในการจัดหาผลผลิต รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเพิ่มผลผลิต ปลอดการเผาตอซัง แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย
ซีพีเอฟ ยังได้ส่งเสริมความตระหนักของพนักงาน รู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ปกป้องและดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป๋าชายเลน โครงการปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการทั้งกิจการในประเทศไทยและกิจการต่างประเทศ กิจกรรมกับดักขยะทะเล ในโครงการ CPF Restore the Ocean ที่นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ ด้วยการนำฝาขวดน้ำพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วมาแปรรูปเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ อาทิ กระถางต้นไม้ และถาดใส่ของ ซึ่งโครงการดังกล่าว สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านเศรษฐกิจ คือ สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ด้านสังคม สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะ และด้านสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก รักษาระบบนิเวศทางทะเล
นางกอบบุญ กล่าวว่า บริษัทฯ ส่งเสริมให้คู่ค้าตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความรู้ให้คู่ค้า SMEs ช่วยพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการนำส่วนของผลประหยัดที่เกิดขึ้น มาลงทุนกับโครงการลดการปล่อยคาร์บอนฯของตัวเอง ขณะเดียวกัน ได้จัด โครงการ “ปันรู้ ปลูกรักษ์” โดยร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ที่ซีพีเอฟเข้าไปดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมให้ความรู้กับเยาวชนเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมมือกันอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน