คุณสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท โลตัส เปิดเผยว่า โลตัสในฐานะธุรกิจค้าปลีกไทยที่รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกมานานกว่า 10 ปี สานต่อเป้าหมายในการรักษาสิ่งแวดล้อม เปิดตัวโครงการ “ถุงคืนชีพสร้างอาชีพ” นำรายได้จากการจำหน่ายถุงใช้ซ้ำ มอบให้กับผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต โควิด-19 เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ให้มีรายได้ที่ยังยืน
ในปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก SME และเกษตรกร เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี พ.ศ.2564 นี้ โลตัสจึงอยากมอบของขวัญให้กับผู้ประกอบการ SME ด้วยการมอบรายได้ที่ได้รับจากการจำหน่ายถุงคืนชีพ หรือถุงพลาสติกแบบใช้ซ้ำให้กับผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศภายใต้โครงการ “ถุงคืนชีพ สร้างอาชีพ” ซึ่งได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถือเป็นการต่อยอด จากการครบรอบ 1 ปีที่มีการงดแจกถุงพลาสติก โดยได้มีการเพิ่มลวดลายให้กับถุงคืนชีพเป็นลาย “ผ้าไทยประจำ 4 ภาค” จำหน่ายที่โลตัสทุกสาขาทั่วประเทศ ในราคา 3 บาท โดยจะนำรายได้มาจัดหาอุปกรณ์ประกอบอาชีพสำหรับจำหน่ายอาหาร และบัตรเงินสด รวมมูลค่าทุนละ 30,000 บาท เพื่อเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพแก่ SME 77 ราย พร้อมทั้งมีการจัดอบรมในการประกอบอาชีพเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME มีรายได้ที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ โลตัสกำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม คือการสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ (closed-loop packaging system) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยการลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และรีไซเคิล (Recycle) นอกจากการจัดการภายในองค์กรแล้ว โลตัสยังเป็นผู้นำในการรณรงค์ให้ลูกค้าและประชาชนช่วยกันลดการใช้ถุงพลาสติกเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จึงเป็นที่มาของการพัฒนา “ถุงคืนชีพ” ในปี 2563 ซึ่งเป็นถุงพลาสติกแบบหนาที่ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ผลิตจากส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล ลูกค้าสามารถนำ “ถุงคืนชีพ” ใบเก่าที่ชำรุดมาแลกเป็นถุงคืนชีพใบใหม่ได้ฟรี ที่โลตัสทุกสาขา โดยโลตัสจะนำกลับเข้าระบบเพื่อนำรีไซเคิลต่อไป ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายถุงคืนชีพในปี 2563 โลตัสได้นำไปซื้ออุปกรณ์การแพทย์มอบให้กับโรงพยาบาลมะเร็ง 8 แห่งทั่วประเทศ รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 9.2 ล้านบาท
นอกจากนี้ โลตัสยังมีโครงการอื่นๆ เช่น ตู้รับคืนขวดพลาสติก การยกเลิกการใช้หลอดพลาสติก และการยกเลิกการใช้ถาดโฟม ตามเป้าหมายในการสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ (closed-loop packaging system) จนมาถึงโครงการในปีนี้ที่มุ่งมั่นที่สานต่ออย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME และเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศอีกด้วย