รายงานข่าว เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไข้หวัดนกล่าสุด ในประเทศจีนพบผู้ป่วยไข้หวัดนกH3N8และมีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนก ชนิดH5N1ในรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)สายพันธุ์รุนแรงในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ เแอฟริกา อเมริกาเหนือ และเอเชีย รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม กัมพูชา และลาว มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี2564
ผศ.น.สพ.ดร.เกรียงไกร วิฑูรย์เสถียร ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงและผลิตสัตว์ปีกในประเทศไทยมีมาตรฐาน ปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบอาหารสัตว์ ไปถึงกระบวนการเลี้ยงไก่ในฟาร์มระบบปิด ยึดหลักมาตรฐานGood Agriculture Practices (GAP)หรือแนวทางด้านการปฏิบัติที่ดีทางด้านการเกษตรเกี่ยวกับฟาร์มสัตว์ปีก และหลักสวัสดิภาพสัตว์
สำหรับฟาร์มสัตว์ปีกที่ได้มาตรฐานจะมีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity System)และมาตรฐานการควบคุมและเฝ้าระวังโรค (Disease Surveillance System)มาเป็นส่วนสำคัญในการวางระบบการป้องกันโรค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันไข้หวัดนก นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ยังร่วมมือกับผู้ประกอบการและเกษตรกรได้ใช้ “ระบบคอมพาร์ทเมนต์” มาช่วย ในการควบคุมและป้องกันโรค ซึ่งระบบคอมพาร์ทเมนต์นี้เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ไทยปลอดจากไข้หวัดนกมานานกว่า10ปี ตอกย้ำถึงการจัดการการเลี้ยงไก่ของไทยว่ามีความปลอดภัย
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ไม่ทราบประวัติ มีอาการหรือสงสัยว่าป่วย รวมถึงมูลและสารคัดหลั่งจากสัตว์ปีกเหล่านั้นด้วย หากจำเป็นต้องสัมผัสให้ใช้สบู่ล้างมือให้สะอาดทันทีหลังสัมผัสหรือดูแลสัตว์เหล่านี้
อย่างไรก็ตาม เนื้อไก่ เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณค่า และราคาไม่แพง สอดคล้องกับที่ รศ.ดร.กิติพงศ์ อัศตรกุล ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แหล่งโปรตีนสำคัญที่คนไทยมักนึกถึง คือ เนื้อไก่ จัดเป็นอาหารที่อุดมด้วยโปรตีนคุณภาพดีหรือโปรตีนชนิดสมบูรณ์ที่มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนทั้ง9ชนิด นอกจากนี้ เนื้อไก่ยังประกอบด้วยเกลือแร่และวิตามินต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลของระบบต่างๆ ในร่างกาย มีโปรตีนเป็นสารที่สำคัญต่อร่างกายเนื่องจากเป็นองค์ประกอบของเซลล์ เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อต่างๆ รวมถึงเป็นส่วนประกอบของเส้นผมและผิวหนัง อีกบทบาทสำคัญของโปรตีนที่น่าสนใจ คือการสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันและสารภูมิคุ้มกันต่างๆ ที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ร่างกาย
รศ.ดร.กิติพงศ์ กล่าวอีกว่า ควรเลือกซื้อเนื้อไก่จากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะร้านค้าหรือผู้ผลิตที่มีมาตรฐานการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ที่สำคัญต้องบริโภคเนื้อไก่ที่ปรุงสุกแล้ว หรือผ่านความร้อนอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า70องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย5นาทีเพื่อหลีกเลี่ยงจุลินทรีย์ก่อโรค ลดความเสี่ยงอันตรายจากโรคในสัตว์ปีก และหากอาหารที่ปรุงสุกแต่ทิ้งไว้นานเกิน3ชั่วโมง ควรนำอาหารไปอุ่นให้ร้อนอีกครั้งก่อนรับประทาน นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญเรื่องสุขลักษณะที่ดีในการปรุงอาหาร เช่น การล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเตรียมอาหาร การเลือกวัตถุดิบที่สะอาดได้มาตรฐาน และการล้างมือสม่ำเสมอ