นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีขบวนการปั่นราคาหมู และให้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียวว่าราคาเนื้อหมูหน้าเขียงมีราคาสูงถึง 250 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อหวังให้เกิดกระแสสังคมและใช้หลักจิตวิทยา มากดดันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงขายหมูมีชีวิตในราคาต่ำกว่าราคาประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รวมทั้งอาจมีวัตถุประสงค์แอบแฝงอื่น อาทิ การหากำไรกับส่วนต่าง หรือเพื่อชี้เป้าให้พาณิชย์จังหวัดออกมาดูแลราคาหมูหน้าฟาร์ม ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นราคาจำหน่ายไม่ได้สูงดังที่กล่าว ยกตัวอย่างในพื้นที่ภาคเหนือที่ขาดแคลนเนื้อหมูอย่างรุนแรง ราคาจำหน่ายเนื้อหมูในช้อปหรือร้านค้าจำหน่ายทั่วไปยังอยู่ที่กิโลกรัมละ 160 กว่าบาทเท่านั้น ที่สำคัญเกษตรกรยังคงแบกรับภาระต้นทุนที่สูงกว่า 98.81 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาขายเพิ่งจะแตะ 98-100 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จากผลพวกของปัญหาโรค ASF ในหมู และภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกด้าน รวมแล้วปรับขึ้นกว่า 30-40% ทั้งค่าการจัดการป้องกันโรคที่เข้มงวด ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น และอากาศแปรปรวนที่ส่งผลให้อัตราหมูเสียหายเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่กระทบกับการผลิตหมูทั้งสิ้น
“ในขณะที่เกษตรกรยังต้องรับภาระขาดทุน และอยู่ในช่วงที่ยากลำบากที่สุดในอาชีพ กลับมีขบวนการปั่นราคารอล่วงหน้า ขบวนการนี้ได้ให้ข้อมูลและปั่นกระแสไว้ก่อนหน้าแล้ว ว่าราคาหมูหน้าเขียงขึ้นไป 250 บาท ทั้งๆที่ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มเพิ่งจะพ้นต้นทุนมาไม่กี่วัน และภาคผู้เลี้ยงทั่วประเทศยังคงให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการดูแลค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการร่วมกันจัดจำหน่ายหมูเนื้อแดงในห้างโมเดิร์นเทรด จัดรายการอยู่ที่ราคา 150-160 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค ส่วนในช้อปจำหน่ายหมูและตลาดสดราคาอยู่ที่ 170-190 บาทต่อกิโลกรัม แตกต่างกันไปตามแต่อุปสงค์-อุปทานของแต่ละพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลกับทุกฝ่าย ทั้งผู้เลี้ยง ผู้ขายหน้าเขียง และผู้บริโภค แม้ว่าเกษตรกรทุกคนจะมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงที่สูงมากขึ้นจากหลากหลายปัจจัย แต่ก็ยังคงช่วยกันประคับประคองไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค ขอให้ประชาชนและภาครัฐเข้าใจ ขอให้กลไกตลาดทำงาน และเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาราคาดังเช่นที่ผ่านมา”
นายยกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทย ยังคงมีผู้เลี้ยงที่หลากหลาย ประกอบไปด้วยเกษตรกรรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ รวมแล้วกว่าแสนรายที่ร่วมกันรักษาอาชีพเลี้ยงหมูเอาไว้ ส่วนการปรับราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด และสะท้อนต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ไม่ได้ทำตามอำเภอใจ หรือกำหนดโดยใครได้ วันนี้เกษตรกรเพียงแค่พออยู่ได้บ้าง ที่สำคัญปริมาณหมูที่มีไม่มากจากที่หายไปกว่า 50% เนื่องจากผลกระทบของ ASF ก็ล้วนอยู่ในมือเกษตรกรทั้งสิ้น ตอนนี้สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการเพิ่มปริมาณผลผลิตโดยเร็วที่สุด หลายฟาร์มใช้วิธีนำหมูขุนตัวเมียมาเป็นแม่พันธุ์ แม้จะรู้ว่าประสิทธิภาพการผลิตที่ไม่ดี จำนวนลูกแรกคลอดน้อยกว่ามาตรฐาน แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีลูกหมูเข้าเลี้ยง ทั้งหมดนี้คือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร เมื่อปริมาณหมูไม่เพียงพอกับการบริโภค ราคาจึงปรับตามกลไกตลาด แต่เมื่ออุปสงค์สมดุลกับอุปทาน ราคาก็จะปรับตัวได้เอง โดยไม่ต้องมีการควบคุมราคา หรือใช้วิธีนำเข้าหมูมาบิดเบือนตลาดแต่อย่างใด