นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าส่วนงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส เปิดเผยว่า เอไอเอส เตรียมจัดชาเลนจ์เพื่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหม่ โดยชวนองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมชาเลนจ์ “E-Waste The Battle ถ้ารักษ์จริง…มาทิ้งแข่งกัน” ประเดิมการแข่งขันนัดแรกกับมหามิตร “กรีนพหลโยธิน” 13 องค์กร ชั้นนำบนถนนเส้นพหลโยธิน ทั้งนี้ เพื่อสานต่อความตั้งใจที่ตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ หรือเทียบเท่าการนำขยะ E-Waste ไปกำจัดอย่างถูกวิธีรวม 500,000 ชิ้น ภายในปี 2563
โดยการแข่งขันจะแบ่งองค์กรในกรีนพหลโยธินออกเป็น 2 ทีม ได้แก่ทีม A และ ทีม B ทั้งสองทีมจะต้องเชิญชวน พนักงาน ลูกค้า หรือผู้เข้ามาติดต่อให้เข้ามาร่วมทิ้งขยะ E-Waste ที่จุดรับทิ้งของแต่ละองค์กร เริ่มนับคะแนนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 โดยทีมที่ชนะและทีมที่แพ้จะได้รับเงินบริจาค เพื่อนำไปให้กับองค์กรหรือมูลนิธิที่เลือกไว้ ทั้งนี้เอไอเอส จะร่วมสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
พร้อมจับมือ KID KID องค์กรเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม นำแอปพลิเคชัน ECOLIFE มาช่วยอำนวยความสะดวกในการแข่งขัน โดยสามารถติดตามปริมาณการทิ้งของแต่ละองค์กรได้แบบเรียลไทม์ ผ่านเว็บไซต์ http://www.ecolifeapp.com และยังเปิดมิติใหม่ในการทิ้งขยะ E-Waste ซึ่งจะได้ทั้งช่วยโลก ได้ทำบุญ และได้ ECO POINT คะแนนสะสมสำหรับสายกรีน ซึ่งสามารถนำไปแลกของพรีเมี่ยมผ่านแอปพลิเคชัน ECOLIFE ได้
ทั้งนี้ กรีนพหลโยธิน เป็นกลุ่มองค์กรที่จัดขึ้นโดยการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับ 13 องค์กร ภาครัฐและภาคเอกชน บนถนนเส้นพหลโยธิน ประกอบด้วย สำนักงานเขตพญาไท, สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ, โรงพยาบาลพญาไท 2, บุญเติม, สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, ธ.ออมสิน สำนักงานใหญ่, ธ.กสิกรไทย สำนักพหลโยธิน, ธ.กรุงไทย สาขาซอยอารีย์, ธ.เกียรตินาคิน สาขาพหลโยธิน, ธ.ยูโอบี สาขาถนนพหลโยธิน 8, ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารี, IBM และ Exim Bank เพื่อที่จะร่วมรณรงค์ ผลักดันให้เกิดการคัดแยกและทิ้งขยะ E-Waste อย่างถูกวิธี โดยกิจกรรมชาเลนจ์ครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการสานสัมพันธ์ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยทำภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมร่วมกันในปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” สามารถรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้จำนวนทั้งสิ้น 51,786 ชิ้น เทียบเท่าการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 517,860 กิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ โดยทางเอไอเอส จะนำขยะ E-Waste ที่เก็บรวบรวมได้จากโครงการทั้งหมด ไปกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยกระบวนการ Zero Landfill (การจัดการขยะทำให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้เกิดมูลค่าได้อีกครั้ง)