“ศูนย์การเรียนรู้ผักออร์แกนิค (เสลี่ยงทองออร์แกนิค)” ของโรงเรียนบ้านเสลี่ยงทอง ตำบลนายางกลัก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ภายใต้การขับเคลื่อนการดำเนินงานของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ที่มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพการจัดการการศึกษาของไทย โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน
“เสลี่ยงทองออร์แกนิค” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ สร้างโอกาสให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนนักเรียน 111 คน เปิดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล 2 – ประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยการปูพื้นฐานน้องๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจากการลงมือปฏิบัติ สามารถนำความรู้ไปใช้พัฒนาตนเองทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ ถ่ายทอดการเรียนรู้ได้จากรุ่นต่อรุ่น ปลูกฝังทัศนคติและจิตสำนึกที่ดีของนักเรียนต่ออาชีพเกษตรกร ส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพที่ดี และยังสามารถพัฒนาสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน
“คุณครูสุพจน์ สิทธิ์ขุนทด” คุณครูที่รับผิดชอบ”โครงการศูนย์การเรียนรู้ผักออร์แกนิค(เสลี่ยงทองออร์แกนิค)” เล่าที่มาของการทำโครงการปลูกผักปลอดสารเคมีว่า ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ปลูกผักสวนครัว จำเป็นต้องใช้สารเคมี เพื่อช่วยให้ได้ผลผลิต ทางโรงเรียน ฯ มองถึงความปลอดภัยของอาหารที่เด็กๆและคนในชุมชนบริโภค จึงทำแผนเสนอของบประมาณสนับสนุนโครงการจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการคอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ของซีพีเอฟ เพื่อทำโครงการศูนย์การเรียนรู้ผักออร์แกนิค (เสลี่ยงทองออร์แกนิค) ปลูกผักอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยธรรมชาติในดิน โดยมีการสำรวจความต้องการของชุมชนก่อนที่จะเลือกพืชและลงแปลงปลูก หลังจากที่พบว่าชุมชนต้องการบริโภคผัก 5 ชนิด คือ ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักชี ต้นหอม และกรีนโอ๊ค ทางโรงเรียนจึงได้จัดสรรพื้นที่ในโรงเรียนประมาณ 2 งาน เพื่อปลูกผักแบ่งเป็น 2 โรงเรือน และสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1- ป.6 โดยโรงเรือนแรกให้นักเรียน ป.1-ป.3 ร่วมกันดูแลผักที่ปลูกและดูแลง่าย เช่น ต้นหอม ผักชี และอีกโรงเรือนให้นักเรียนชั้น ป.4- ป.6 ช่วยกันดูแล เช่น ผักกาดขาว ผักกาดหอม กรีนโอ๊ค
“โรงเรียนฯได้บรรจุกิจกรรมโครงการปลูกผักปลอดสารพิษไว้ในคาบเรียนทักษะชีวิต ซึ่งเป็นชั่วโมงสุดท้ายของคาบเรียนทุกวัน เพื่อให้เด็กๆ ได้ลงมือปฎิบัติจริงและสามารถนำกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง เพราะหลายๆบ้านที่ผู้ปกครองมีการปลูกผักไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือนอยู่แล้ว หลังจากที่โรงเรียนฯได้รับการพิจารณาอนุมัติงบประมาณเพื่อทำโครงการนี้ ปัจจุบัน ลงแปลงปลูกผักรอบแรกไปแล้ว เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รอผลผลิตรอบแรกโตเต็มที่ จะเก็บผลผลิตส่วนหนึ่งจำหน่ายให้โครงการอาหารกลางวัน เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้นักเรียน ผลผลิตอีกส่วนหนึ่งจะจำหน่ายให้ชุมชน จำหน่ายที่ตลาดชุมชนหลังจากที่นักเรียนเลิกเรียน และขายผ่านออนไลน์ผ่านเพจ Facebook โรงเรียน” คุณครูสุพจน์เล่า
“ด.ญ.แพรไพลิน โพธิ์นอก” หรือ น้องไพลิน อายุ 12 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นป. 6 จิตอาสาวัยเยาว์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ บอกว่า เธอสนใจเข้าร่วมเป็นอาสาช่วยคุณครู เพราะเห็นว่าเป็นโครงการใหม่ที่โรงเรียนไม่เคยทำมาก่อน และเป็นคนที่ชอบรับประทานผักอยู่แล้ว และที่บ้านปลูกต้นหอมไว้รับประทานเอง เธอได้ความรู้เรื่องการผสมดินที่ส่วนผสมทั้งดินก้ามปู ดินไส้เดือน และดินร่วนทั่วไป ช่วยให้ผักได้ผลผลิตที่เติบโตดี และยังนำเทคนิคนี้ไปบอกผู้ปกครองที่บ้าน
“ด.ญ ธิชานันท์ ทองวิเศษ” หรือ น้องการ์ตูน เพื่อนร่วมชั้นเรียนน้องไพลิน บอกว่า ที่บ้านของเธอปลูกต้นหอมและผักชีขาย จึงนำวิธีที่โรงเรียนใช้เรื่องการผสมดิน การวัดค่าความชื้นของดิน ความเป็นกรด -ด่าง ไปบอกพ่อและแม่ ขณะเดียวกัน เธอก็นำเทคนิคการปลูกต้นหอมให้งอกเร็วซึ่งเป็นวิธีที่พ่อแม่ใช้ มาแลกเปลี่ยนความรู้ให้กับเพื่อนที่โรงเรียน คือ การฝานปลายหัวหอมก่อนลงดิน น้องการ์ตูน บอกด้วยว่า การที่เธอมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมโครงการปลูกผักของโรงเรียน นอกจากได้ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แล้ว ยังได้เรียนรู้การทำงานร่วมกันเป็นทีม และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ เช่น นักเรียนชั้นป.5 และป.6 แต่ละกลุ่ม แบ่งความรับผิดชอบมารดน้ำและดูแลแปลงผักในแต่ละวัน
อาสารุ่นเยาว์อีกคนที่สมัครใจช่วยในโครงการฯ คือ “ด.ญ. ปรายฟ้า อาบสุวรรณ์” หรือ น้องกวาง บอกว่า โครงการนี้ทำให้เด็กนักเรียนและผู้ปกครองได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย บริโภคผักที่ปลอดสารพิษ ไม่มีสารเคมีตกค้างเพราะเราไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย นอกจากนี้ นักเรียนที่เป็นแกนนำซึ่งส่วนใหญ่อยู่ชั้น ป.5 และ ป. 6 ได้เรียนรู้การเป็นผู้นำ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากคุณครูและคำแนะนำจากพี่ๆ ผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ของซีพีเอฟ ถ่ายทอดให้กับน้องๆ และได้ประสบการณ์จากการลงพื้นที่สำรวจตลาดกับคุณครู เพื่อที่จะนำผลผลิตของโรงเรียนไปวางขาย เป็นรายได้เข้าโรงเรียนต่อไป
“นางสมพิศ วิสิทธิ์ ” ครูรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ รร.บ้านเสลี่ยงทอง กล่าวว่า โรงเรียนฯคาดหวังว่าโครงการนี้ นอกจากเด็กๆได้เรียนรู้การปลูกผักปลอดสารพิษ นำความรู้ไปแนะนำผู้ปกครอง เพื่อปรับทัศนคติจากที่ยังมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก และที่สำคัญ คือ เป็นการผลิตอาหารปลอดภัย สร้างความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน ขณะที่การสำรวจความต้องการของผู้บริโภคก่อนการทำโครงการ ทำให้สามารถวางแผนในการเพาะปลูกได้ง่าย ลดปัญหาการตลาด
ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ซึ่งปัจจุบัน ดูแลโรงเรียน CONNEXT ED จำนวน 301 แห่งทั่วประเทศ ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสระบุรี ผ่านการทำหน้าที่ของ School Partner ของซีพีเอฟ 65 คน ซึ่งเป็นอาสาสมัครช่วยให้คำแนะนำแก่โรงเรียนในการพัฒนาโครงการต่างๆ และเป็นเพื่อนคู่คิด คอยช่วยเหลือและสนับสนุน ในการวางแผนการทำงานร่วมกับโรงเรียน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้านหลัก คือ 1. การเปิดเผยข้อมูลโรงเรียนสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส 2. กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม 3. การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน 4. เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ และ 5. การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา