รายงานพิเศษ ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อช่วงปลายปี 2562 ได้เปิดเผยเนื้อหาเกี่ยวกับ ภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยฝีมือมนุษย์ กำลังส่งผลร้ายแรงต่อมหาสมุทร ทั้งในเรื่องของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การละลายของน้ำแข็ง และผลกระทบต่อสรรพชีวิตในทะเล
โดยรายงานฉบับนี้ ยังระบุด้วยว่า แผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์กำลังละลายอย่างต่อเนื่อง และหากน้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายทั้งหมด จะทำให้น้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 6 เมตร และระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นอีก 1.1 เมตรภายในปี 2100 หรืออีก 81 ปีข้างหน้า ส่งผลให้พื้นที่ต่ำตามแนวชายฝั่งต้องเผชิญกับน้ำท่วมอย่างน้อยปีละครั้งภายในปี 2050
เมืองใหญ่ทั่วโลกอย่าง จาการ์ตา ธากา เชนไน มุมไบ เซี่ยงไฮ้ ลอนดอน นิวยอร์ก รวมทั้ง กรุงเทพฯ เสี่ยงถูกน้ำท่วม และยังคาดการณ์ด้วยว่า น้ำแข็งในพื้นที่ต่างๆ ก็จะยังคงละลายเช่นเดียวกับธารน้ำแข็งอัลไพน์ของสวิตเซอร์แลนด์ โดยจากบันทึกของนักวิทยาศาสตร์ที่เริ่มติดตามธารน้ำแข็งในภูมิภาคนี้มาตั้งแต่ปี 2436 ระบุว่า บางจุดสูญเสียปริมาณน้ำแข็งไปแล้วถึง 90% และมีความเป็นไปได้อย่างมากที่ธารน้ำแข็งอัลไพน์ อาจหายไปทั้งหมดในช่วงปลายศตวรรษนี้ หากไม่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้ง เทือกเขาแอลป์ อาจจะสูญเสียมวลน้ำแข็ง อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี 2643
ความสูญเสีย โดยเฉพาะในรูปแบบของภัยพิบัติ ที่มีสาเหตุสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อนไม่ใช่สถานการณ์เกินจริงที่พบได้เพียงในตำนาน งานเขียน หนังสือนิยาย หรือเป็นภาพที่จำลองขึ้นในภาพยนตร์ แต่กำลังปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถระบุตัวเลขวันเวลาที่จะเกิดภัยพิบัติจากจากปรากฏการณ์นี้ได้ชัดเจนขึ้นทุกปี.
อ่านต่อ :
- https://ngthai.com/environment/15214/the-myth-of-great-flood/2/
- https://www.greenpeace.org/thailand/press/7774/ipcc-report-land-use-change/