นักวิชาการ มั่นใจประเทศไทยมีมาตรฐานการเลี้ยงและการผลิตสุกรที่ดี แนะเลือกซื้อเนื้อหมูจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่ได้มาตรฐาน แหล่งที่มาน่าเชื่อถือ มีการรับรองจากกรมปศุสัตว์ ย้ำผู้บริโภคควรรับประทานเนื้อหมูปรุงสุกเพื่อความปลอดภัย
รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “เนื้อหมู” เป็นหนึ่งในเนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากชนิดหนึ่งของคนไทย เป็นแหล่งโปรตีนช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย มีวิตามิน กรดไขมัน และแร่ธาตุ รสชาติอร่อย หาซื้อได้ง่ายราคาสมเหตุผล และประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู
การเลี้ยงสุกรในประเทศไทยมีการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลตลอดห่วงโซ่การผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารจัดการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในสุกร (Good Farming Management : GFM) การจัดการให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ด้วยระบบการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูล การพัฒนาคุณภาพผลผลิต ตลอดจนการปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อตอบสนองความต้องการเนื้อสัตว์คุณภาพดีและปลอดภัยของผู้บริโภค
รศ.ดร.ศกร แนะ 3 วิธี ในการเลือกซื้อเนื้อหมูให้ปลอดภัย เริ่มต้นด้วย
- สังเกตราคาสินค้า ไม่ควรราคาถูกเกินไปจนผิดปกติ และ ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่เก็บในตู้หรือห้องแช่แข็งที่อุณหภูมิเหมาะสม เพื่อรักษาสภาพความสดไว้ต่อเนื่อง
- เนื้อหมูที่ดี ใช้นิ้วกดเนื้อจะแน่นคืนสภาพได้ ไม่บุ๋มยุบตัว ส่วนความสดให้สังเกตที่สี สีไม่ซีดหรือเขียวคล้ำ มีสีแดงสดตามธรรมชาติ ไม่แดงเข้มจนเกินไป เพราะอาจมีการใส่สารเร่งเนื้อแดง ไม่มีลักษณะฉ่ำน้ำหรือน้ำเจิ่ง ไม่มีเมือก และไม่มีกลิ่นที่ผิดปกติ
- เลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน ได้การรับรองจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหาร มีตราสัญลักษณ์ หรือมีเครื่องหมาย “ปศุสัตว์ OK” รับรองความปลอดภัย ถูกสุขอนามัย สามารถตรวจสอบแหล่งผลิตต้นทางได้
สำหรับเนื้อหมูที่บรรจุในแพ็คเกจ ให้ดูวันหมดอายุ ฉลากข้อมูล ตราสินค้า ประกอบการเลือกซื้อ หรือเลือกแบรนด์ที่ได้รับความนิยม ที่มีความน่าเชื่อถือ มีระบบตรวจสอบตามมาตรฐาน จะช่วยลดความเสี่ยงปัญหาเรื่องสุขภาพได้
นอกจากนี้ รศ.ดร.ศกร ย้ำว่า การรับประทานเนื้อหมูให้ปลอดภัย ควรบริโภคที่ปรุงสุก เพราะการปรุงสุกช่วยสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้ ควรปรุงด้วยความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 71 องศาเซลเซียส (160 องศาฟาเรนไฮด์) เพื่อทำลายเชื้อโรคที่อาจติดมาและทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคไข้หูดับ โรคพยาธิ หรือ โรคที่ทำให้เกิดท้องเสีย และเกิดอันตราย