เนสท์เล่ ออกแถลงการณ์หลังศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามผลิต-ว่าจ้างผลิต-จำหน่าย และนำเข้า ผลิตภัณฑ์แบรนด์ “เนสกาแฟ” ในประเทศไทย

0

“เนสท์เล่” ออกแถลงการณ์ หลังศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามผลิต-ว่าจ้างผลิต-จำหน่าย และนำเข้า ผลิตภัณฑ์แบรนด์ “เนสกาแฟ” ในประเทศไทย มีเนื้อหาระบุว่า เนสท์เล่ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟ ได้ยุติสัญญากับบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนแบบ 50/50 ระหว่างเนสท์เล่ และตระกูลมหากิจศิริ ซึ่งมีคุณประยุทธ มหากิจศิริ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น โดย ผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ ได้ผลิตในประเทศไทย ผ่าน QCP ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 จนถึง พ.ศ.2567 การยุติสัญญาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายโดยคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล โดยมีผลเป็นการเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2567 ภายใต้สัญญาการร่วมทุนนี้ เนสท์เล่ มีอำนาจในการบริหารงาน การผลิต การจัดจำหน่าย รวมทั้งการทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเนสกาแฟนั้นเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่

ภายหลังยุติสัญญา ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของ QCP ดังนั้น เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2568 เนสท์เล่ เอส เอ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของศาล ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาของการยุติสัญญาจนถึงการยื่นขอยกเลิกบริษัท เนสท์เล่ ได้ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ให้ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน ปี พ.ศ. 2568 นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทในเครือเนสท์เล่ และกรรมการ และเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2568 ศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย โดยที่เนสท์เล่ยังไม่มีโอกาสเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งดังกล่าว แต่เนสท์เล่ก็ให้ความเคารพต่อกฎหมายและได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฉบับนี้ โดยเนสท์เล่ได้ออกหนังสือแจ้งลูกค้า อันได้แก่ ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2568 ให้รับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และแจ้งว่าบริษัทฯ จะไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจากร้านค้าเหล่านี้ได้ โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบภายหลัง ในช่วงเวลาระหว่างนี้ ร้านค้าปลีกที่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟอยู่ในร้าน ยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติ

เนสท์เล่ มีความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นจากคำสั่งศาลนี้ ซึ่งจะส่งผลในการสูญเสียรายได้ของผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งร้านกาแฟขนาดเล็ก รถเข็นขายกาแฟที่จะไม่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจำหน่าย และการปรับเปลี่ยนสูตรการชงและวัตถุดิบที่ใช้ ยังอาจส่งผลต่อรสชาติที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ประจำวันของผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ อีกทั้งยังส่งผลต่อการขาดรายได้ของพนักงานของลูกค้าและคู่ค้าซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่ของเนสกาแฟที่เคยสามารถจัดส่งวัตถุดิบต่างๆ ให้กับเนสกาแฟแต่ต้องหยุดชะงักลง รวมไปถึงเกษตรกรไทยผู้เพาะปลูกกาแฟและเกษตรกรโคนมไทย จะไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตเพื่อเป็นวัตดุดิบให้เนสกาแฟ เนื่องจากคำสั่งศาลห้ามผลิต และว่าจ้างผลิต เนสกาแฟในประเทศไทย ในทุกๆ ปี เนสกาแฟรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบพันธุ์โรบัสต้าในปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดที่ปลูกได้ประเทศไทย

นอกจากนี้ ผู้บริโภคจำนวนหลายล้านคนในประเทศไทย และผู้บริโภคในตลาดส่งออกของเนสกาแฟจะไม่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟดื่มเนสท์เล่ จะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการแก้ไขสถานการณ์นี้ และกำลังดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้าน เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวต่อศาล พร้อมยื่นข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อการพิจารณาคำร้องทั้งนี้ เนสท์เล่ มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างยั่งยืน เนสท์เล่จำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่าง ๆ ในประเทศไทยมานานกว่า 130 ปีแล้ว และได้ลงทุนกว่า 22,800 ล้านบาทในประเทศไทย ในระหว่างปี พ.ศ. 2561-2567 โดยเนสท์เล่ยังคงเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภค พนักงานของเรา เกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเรา ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจ และคู่ค้าของเรา