เทคโนโลยีใหม่ ‘ลิ้นหัวใจเนื้อเยื่อ’ ตอบโจทย์ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ ช่วยยืดเวลาเปลี่ยนลิ้นหัวใจซ้ำนาน 30 ปี

‘โรคหัวใจและหลอดเลือด’ ภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็น 32% ของการเสียชีวิตทั้งหมดของคนทั่วโลก ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2563 พบว่าผู้ป่วยกลุ่ม ‘โรคหัวใจและหลอดเลือด’ เสียชีวิตต่อปี สูงถึง 17.9 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2561 คนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด สูงถึง 432,943 คน และเสียชีวิตถึง 20,855 คนต่อปี หรือเฉลี่ยสูงถึง 57 คนต่อวัน

เนื่องในวันหัวใจโลก (World Heart Day) ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมรณรงค์เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเป็นโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโลก

ผศ. นพ. บุลวัชร์ หอมวิเศษ

ผศ. นพ. บุลวัชร์ หอมวิเศษ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมหัวใจและปอด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้ข้อมูลว่า ‘โรคหัวใจ’ หมายถึงโรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ โดยหัวใจของคนเรา มีด้วยกัน 4 ลิ้นหัวใจ คือ ลิ้นหัวใจไมตรัล ไตรคัสปิด เอออร์ติก และพัลโมนิก ซึ่งลิ้นหัวใจจะทำหน้าที่ให้เลือดไหลไปในทิศทางเดียวผ่านหัวใจ และจากหัวใจไปสู่หลอดเลือดใหญ่ที่เชื่อมต่ออยู่กับหลอดเลือดแดงปอด และหลอดเลือดแดงใหญ่ โดยบทความนี้จะมาทำความรู้จักกับ ‘โรคลิ้นหัวใจ’ (Valvular Heart Disease) เกิดจากการที่ลิ้นหัวใจทำงานล้มเหลว โดยเกิดจากความผิดปกติของ ‘ลิ้นหัวใจ’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘วาล์ว’ ซึ่งหากลิ้นหัวใจทำงานเปิดและปิดไม่ถูกต้อง จะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดจะหยุดชะงัก และเซลล์ของร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็น ภาวะเหล่านี้จะสร้างความเครียดให้กับหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เกิดภาวะหัวใจโต ภาวะเลือดคั่งในหัวใจ เลือดคั่งในปอด และหากปล่อยทิ้งไว้จนเป็นมากๆ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดมีปัญหาในระดับรุนแรง ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือโรคหลอดเลือดสมอง

โรคลิ้นหัวใจ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย สาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ลิ้นหัวใจอักเสบ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจ โรครูห์มาติก โรคลิ้นหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด ความเสื่อมของลิ้นหัวใจตามอายุ หินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจ จนทำให้การเปิดหรือปิดของลิ้นหัวใจผิดปกติและนำไปสู่โรคลิ้นหัวใจรั่ว และโรคลิ้นหัวใจตีบได้ โดยที่ผู้ป่วยอาจจะแสดงอาการ เช่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ไอแบบมีเสมหะปนเลือด วิงเวียนศีรษะ เป็นลม รู้สึกหัวใจเต้นผิดปกติคล้ายกับอาการใจสั่น ข้อเท้าและเท้าบวม กดแล้วบุ๋ม เป็นต้น

สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจที่ได้ผลดี มีด้วยกัน 2 วิธี คือ 1. การผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ คือการซ่อมเฉพาะส่วนของลิ้นหัวใจที่เสียหาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่สามารถซ่อมแซมได้ และ 2. การผ่าตัดแบบเปลี่ยนลิ้นหัวใจ คือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยการผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แพทย์จะต้องนำลิ้นหัวใจเทียมเพื่อมาเปลี่ยนทดแทนลิ้นหัวใจเดิม โดยลิ้นหัวใจเทียมจะมี 2 ชนิด คือ ลิ้นหัวใจที่ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น โลหะ หรือเหล็ก และลิ้นหัวใจที่ทำมาจากเนื้อเยื่อจากหมู วัว หรือเนื้อเยื่อของมนุษย์

มร. ไมค์ ลิน กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เอ็ดวาร์ดส์ ไลฟ์ไซเอ็นซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการรักษาโรคลิ้นหัวใจ โดย Edwards Lifesciences เป็นผู้นำระดับโลกในด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นการรักษากลุ่มที่มีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ และด้วยประสบการณ์มากกว่า 60 ปีในการมุ่งมั่นพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ อาทิ หัตถการการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVI) และได้พัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์เกี่ยวกับโครงสร้างหัวใจอย่างต่อเนื่อง อาทิ อุปกรณ์เฝ้าติดตามระบบการไหลเวียนของหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น โดยที่ผ่านมา Edwards Lifesciences ได้ทำงานร่วมกับศูนย์หัวใจชั้นนำทั่วโลก มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทีมหัวใจสหสาขาวิชาชีพ อาทิ ศัลยแพทย์หัวใจ แพทย์โรคหัวใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยา และอื่นๆ ทำให้ทราบถึงปัญหาและเข้าใจความต้องการของทีมแพทย์ผู้ทำการรักษาผู้ป่วยอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยและให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีขึ้น”

นักวิจัยกำลังปฏิบัติการ ใน Edwards

Edwards Lifesciences เป็นผู้บุกเบิกลิ้นหัวใจเทียมเครื่องแรกในโลก ตั้งแต่ปี 2503 ปัจจุบันเป็นผู้นำด้านการผลิตลิ้นหัวใจ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ล่าสุดได้มีการวิจัยและพัฒนา ‘ลิ้นหัวใจเนื้อเยื่อ’ (Tissue Valve) เพื่อใช้ในการรักษาโรคลิ้นหัวใจสำเร็จไปอีกขั้น ที่สำคัญแพทย์ไทยได้ทำการรักษา ‘ผู้ป่วยคนไทย’ ด้วยลิ้นหัวใจเนื้อเยื่อตัวใหม่ล่าสุดสำเร็จเป็นรายแรก ทั้งนี้เพื่อชะลอการเกิดแคลเซียมไปเกาะที่ลิ้นหัวใจเนื้อเยื่อให้ได้นานที่สุด ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของลิ้นหัวใจได้นานถึง 30 ปี จากลิ้นหัวใจแบบเดิมที่มีอายุการใช้งานประมาณ 10-15 ปี ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำกัดคือ ลิ้นหัวใจเนื้อเยื่อที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ไปสักระยะหนึ่ง แคลเซียมจะค่อยๆ มาเกาะที่ลิ้นหัวใจมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มแข็งตัวมากขึ้นทำให้ลิ้นหัวใจไม่สามารถปิดเปิดได้ตามกลไกของร่างกาย จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบและต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจซ้ำในระยะเวลา 10 -15 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล

ผศ. นพ.บุลวัชร์ หอมวิเศษ กล่าวถึงการรักษาโรคลิ้นหัวใจว่า ที่ผ่านมาแพทย์ส่วนใหญ่กว่า 80% จะเลือกใช้ลิ้นหัวใจเนื้อเยื่อสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และเลือกใช้ลิ้นหัวใจจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น โลหะหรือเหล็ก กับกลุ่มผู้ป่วยที่อายุไม่มาก เนื่องจากลิ้นหัวใจที่เป็นโลหะหรือเหล็กจะมีอายุการใช้งานที่นานกว่าลิ้นหัวใจที่เป็นเนื้อเยื่อ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากอายุผู้ป่วยเป็นหลักและปัจจัยร่วมอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจซ้ำ อย่างไรก็ตาม การใช้ลิ้นหัวใจที่เป็นวัสดุสังเคราะห์ ยังมีข้อจำกัดบางประการ ได้แก่ ผู้ป่วยจะต้องกินยาต้านการแข็งตัวของเลือดไปตลอดชีวิต ต้องตรวจเลือดตลอดชีวิต ต้องปรับยาเป็นระยะๆ และต้องระวังเรื่องการผ่าตัดครั้งต่อไป รวมถึงระวังไม่ให้ลื่นล้ม ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างมาก

ด้วยเหตุดังกล่าว วงการแพทย์จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ‘ลิ้นหัวใจเนื้อเยื่อ’ เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น และเข้ามาตอบโจทย์การรักษาโรคลิ้นหัวใจสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่อายุยังน้อยและในทุกช่วงอายุ เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่อยากกินยาตลอดชีวิต, ชื่นชอบออกกำลังกายและชอบเล่นกีฬา, อยากมีบุตร ซึ่งกลุ่มนี้จะมีข้อยกเว้นเรื่องการใช้ยา, ผู้ป่วยที่เดินทางลำบากหรืออยู่ไกลเพราะต้องมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือดบ่อยๆ รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่อยากปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์

ข้อดีของ ‘ลิ้นหัวใจเนื้อเยื่อ’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ลิ้นหัวใจจะมีขนาดเล็กเพียง 2 เซนติเมตร ทำให้แพทย์สามารถเปิดแผลผ่าตัดผ่านทรวงอกได้ในขนาดเล็ก ประมาณ 5 เซนติเมตร และหลังการรักษา ผู้ป่วยจะกินยาเฉพาะในระยะแรก ประมาณ 3 เดือนหลังการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ที่สำคัญลิ้นหัวใจเนื้อเยื่อตัวใหม่นี้ ยังช่วยลดกระบวนการของการนำลิ้นหัวใจเนื้อเยื่อไปแช่สารฟอร์มาลีน หรือฟอร์มาดีไฮด์ ทำให้ไม่ต้องนำลิ้นหัวใจไปล้างน้ำเหมือนแต่ก่อน แพทย์และพยาบาลสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย สะดวกรวดเร็ว และยังช่วยลดการสัมผัสสารเคมี ซึ่งแตกต่างจากลิ้นหัวใจเนื้อเยื่อแบบเดิม

“ปัจจุบัน ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีปัญหาลิ้นหัวใจและไม่ได้รับการวินิจฉัย สังคมจึงควรรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจอย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้หาแนวทางป้องกันดีกว่ารักษา โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่เป็นลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจตีบ โรครูห์มาติก หรือในคนสูงวัยอายุประมาณ 60 – 70 ปีขึ้นไป จากความเสื่อมของลิ้นหัวใจ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น บริโภคของที่มีไขมันสูง ของทอดๆ มันๆ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ก็ควรมาตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการได้อย่างถูกต้องและตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้มีเวลาวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม และเลือกวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุด อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาอีกด้วย” ผศ. นพ. บุลวัชร์ หอมวิเศษ กล่าวปิดท้าย