ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 ม.ค. 64) นาย เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมการทดสอบการปฏิบัติงานนวัตกรรม รถเกี่ยวข้าวแบบเดินตามขนาดเล็ก โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับที่แปลงนาสาธิต ของนางอาอีซ๊ะ สลัมสี แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนานวัตกรรมทางการเกษตร เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับชาวนา ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นั้น รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรคิดค้นและพัฒนาโครงการ “นวัตกรรมรถเกี่ยวข้าวแบบเดินตามขนาดเล็ก” ขึ้น โดยใช้ตัวรถของรถไถนาแบบเดินตามทั่วไป ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด นำมาติดตั้งกับเครื่องยนต์ดีเซลและเพิ่มเครื่องตัดและกลไกสำหรับใช้เกี่ยวข้าวในแปลงนา ซึ่งเหมาะสำหรับแปลงนาประเภทที่ราบลุ่ม ข้าวล้มราบเรียบถึงข้าวตั้ง รวมไปถึงพืชการเกษตรอื่นๆ ทั่วประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร
สำหรับจุดเด่นและประโยชน์ของนวัตกรรมดังกล่าว ชาวนาสามารถทำงานได้คนเดียว ข้าวที่ตัดได้ตากเพียงแดดเดียวก็สามารถเข้าไปโรงสีได้ ตอซังข้าวมีขนาดสั้น ชาวนาไม่ต้องเผา ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ รถเกี่ยวข้าวมีขนาดเล็ก ประหยัดต้นทุน ประหยัดแรงงาน และสามารถนำไปใช้เอนกประสงค์กับต้นหญ้าหรือตัดหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือเพิ่มชุดโรตารี่สำหรับการเตรียมพื้นที่นาได้อีกด้วย
สำหรับแปลงนาข้าวที่ใช้สาธิตนวัตกรรมรถเกี่ยวข้าวในครั้งนี้ เป็นของนางอาอีซ๊ะ สลัมสี ชาวนาในพื้นที่คลองสิบสอง เขตหนองจอก ที่ทำนาปีล่าช้า เนื่องจากในช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ ทำให้ไม่สามารถทำนาปีได้ตามปกติ กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ได้เข้าไปช่วยเหลือด้วยการส่งน้ำเข้าคลองชลประทานที่รับน้ำจากคลองระพีพัฒน์ พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณประตูระบายน้ำ(ปตร.)กลางคลอง 8-9 และปตร.ปากคลอง 13 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลำเลียงน้ำ รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณปตร.พระธรรมราชา(ใหม่) สามารถช่วยเหลือพื้นที่ทำนาปีล่าช้าได้ โดยไม่มีผลผลิตเสียหาย ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้งนี้ อยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องสำรองไว้ใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปรังได้ จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า