เงินทองต้องวางแผน!!

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า2019 (โควิด-19) ทำให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบให้คนตกงานฉุกเฉิน.. ไม่ทันตั้งตัวจำนวนมาก!!

​ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ คนหาเช้ากินค่ำ มีรายได้วันต่อวัน แม้กระทั่งคนมีเงินเดือน แต่ไม่มีเงินเก็บเงินออมต้องเดือดร้อนถึงขั้น ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน  บางคนถึงขั้นไม่มีเงินซื้ออาหารประทังชีวิตในแต่ละวัน

ตอกย้ำให้เห็นถึงสุขภาพทางการเงินของคนไทย ที่อยู่ในขั้นวิกฤติ คือ ไม่มีเงินเก็บ-เงินออมเพื่อสำรองไว้ใช้หรือแก้ปัญหาในยามฉุกเฉิน!!

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ที่ได้สำรวจพฤติกรรมการออมของประชาชนฐานรากทั่วประเทศ คือกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000  บาท  พบว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ออมเงินไม่ได้ ส่วนใหญ่  82.7% ให้เหตุผลว่า ไม่มีเงินเหลือให้ออม ถัดมาคือมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน และมีภาระหนี้สิน 

เมื่อถามว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องหยุดงานหรือไม่มีรายได้ มีเงินสำรองไว้ใช้แค่ไหนพบว่ามากกว่า  33.7% ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน!!   อีก 33.3% บอกว่ามีเงินใช้จ่ายไม่เกิน 1เดือนและอีก 28.5% ระบุว่า มีเงินใช้จ่ายไม่เกิน 3 เดือนหมดจากนี้ก็หมดกันเลยชีวิต!!

ดังนั้นยามเมื่อวิกฤติโควิดมาเยือนอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว คนส่วนใหญ่ของประเทศจึงเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ไม่เพียงแต่ประชาชนฐานรากเท่านั้น คนชั้นกลางที่มีรายได้สูงกว่าก็เดือดร้อนหนักเช่นกัน

บทเรียนจากวิกฤติครั้งนี้  ทำให้พวกเราจำเป็นต้องลุกขึ้นมาปฎิวัติ ปรับมุมคิด วางแผนชีวิตการเงินกันใหม่ทั้งหมด  โดยเมื่อโควิด-19 คลี่คลายกลับมาทำงานมีรายได้ มีเงินเข้ามือ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ  “ออมก่อนใช้” ขอให้ท่องเป็น “คาถากันจน” กันไว้เลย!!

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง “เงินทองต้องวางแผน” ที่รวบรวมเทคนิค แนวคิด ความรู้ข้อแนะนำและวิธีการ ในเรื่องการวางแผนการเงินการออม จากกูรูนักวางแผนการเงินไว้มากมาย ให้ข้อแนะนำว่า อาจเริ่มจากการออม 10-20% ของรายได้ก่อน โดยทันทีที่ได้เงินมา ให้กันเงินออมแยกบัญชีออกไปต่างหากเป็นอันดับแรก  และหากมีหนี้สินก็ต้องกันเงินไว้ใช้หนี้ด้วย

วางเป็นสมการได้อย่างนี้  รายได้-เงินออม-หักภาระหนี้(ถ้ามี) = เงินใช้จ่าย

และต้องวางแผนใช้จ่ายเงินให้ได้ทั้งเดือน เช่น มีรายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายแน่ๆ ค่าน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์-ค่าเช่าบ้านต้องกันไว้ก่อน  เงินที่เหลือหาร 30 วัน เพื่อให้รู้ว่า ภายในเดือนนี้จะมีเงินใช้จ่ายค่าอาหาร3 มื้อ ค่าเดินทางและค่าอื่นๆ เฉลี่ยวันละกี่บาท

หากวันไหนใช้จ่ายเกิน วันรุ่งขึ้นก็ต้องใช้น้อยลง หรือหากวันไหนใช้จ่ายน้อยกว่าที่คำนวนไว้ ก็ให้กันเงินที่เหลือใส่กระปุก  เก็บไว้เป็นเงินออมเพิ่ม

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแอปทำบัญชีรายรับรายจ่าย ชื่อว่า SET Happy Money จดอย่างมีวินัย แล้วกลับมาวางแผนปรับลดค่าใช้จ่ายและจัดการหนี้สิน ก็มีเงินออมไปต่อยอดสร้างสุขทางการเงินในปัจจุบันและอนาคตได้ไม่ยาก

คาถาอีกบท จำไว้ให้ขึ้นใจ “ออมก่อน…รวยกว่า..ออมเร็ว..รวยเร็ว..ออมมาก..รวยมาก” ถ้าเริ่มทำได้เร็ว  ความมั่งคั่งก็จะมาหาเราเร็วขึ้น ที่สำคัญต้องลืมและเลิกไปเลยกับพฤติกรรมเดิมๆ ที่ “ใช้ก่อน..เหลือเท่าไหร่..ค่อยออม”

ในบทความครั้งหน้า จะเล่าให้ฟังว่าจะแบ่งและจัดสรรเงินออมไว้เพื่อเป้าหมายอะไรกันบ้าง   

                                                   ​​​​คุณนายพารวย