เว็บไซต์ UNFCCC รายงานการประชุม Climate Week NYC ของสหประชาชาติ โดยระบุว่านายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ เครือซีพี ประกาศเจตนารมณ์ “Race to Zero” หรือ “ปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์” พาองค์กรธุรกิจก้าวสู่ยุค “เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน” ตั้งเป้าหมายนำเครือซีพีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2030 พร้อมชูวิสัยทัศน์ใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรมขั้นสูงในกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC ) เผยแพร่บทความ “Commitments to Net Zero Double in Less Than a Year” ในสัปดาห์ Climate Week NYC ระหว่างวันที่ 21 – 27 ก.ย. 2563 ซึ่งจัดโดยสหประชาชาติ โดยระบุว่า นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กล่าวว่าในฐานะกลุ่มบรรษัทผู้นำของเอเชียที่มีธุรกิจหลักด้านอาหารและการเกษตร เครือซีพีมีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคการเกษตร และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารที่ยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้เครือซีพีมีความมุ่งมั่นและมีเป้าหมายในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรและนักลงทุนทั้งหลายของเราจากหลากหลายธุรกิจในเครือทั่วโลก
นอกจากนี้ นายศุภชัยยังได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องการใช้พลังของเครือซีพีช่วยขับเคลื่อนภาคเกษตรลดโลกร้อน ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ และปรับใช้แนวทางการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ที่มีประสิทธิภาพและเร่งนำมาตรการประหยัดพลังงานมาใช้ ขณะที่การลดขยะอาหารจะต้องได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งผู้บริโภคและคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งการสร้างความตระหนักรู้ผ่านระบบการศึกษา ความเป็นผู้นำทั้งในและนอกองค์กร และการทำงานร่วมกันจะช่วยทำให้สิ่งนี้เป็นจริง
การปรับตัวไปสู่การเป็นองค์กรที่ดำเนินเศรษฐกิจด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ได้นั้น จะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การนำระบบดิจิทัลมาใช้ในระบบจะทำให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งต้องนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของเครือซีพี ดังนั้นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ถึงระดับเป็นศูนย์ ควรเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสามารถของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัทเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ขยายผลได้
ด้านความเห็นของซีอีโอชั้นนำของโลกคนอื่น ๆ ที่ได้ร่วมในงาน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น นายแบรด สมิธ กรรมการผู้จัดการของไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น บอกว่า ไมโครซอฟท์จะเป็นองค์กร Carbon Negative และ Water Positive ภายในปี 2030 คือจะต้องดูดซับคาร์บอนมากกว่าที่ปล่อยออกไป และสร้างน้ำสะอาดคืนสู่ธรรมชาติให้มากกว่าที่ใช้ไป , นายแจน เจ็นนิสช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาฟาร์จโฮลซิม เห็นว่า หลายประเทศมุ่งหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด การลงทุนก่อสร้างโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคเป็นทางเลือกที่ดี แต่ต้องตระหนักถึงการพัฒนาการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และนาย ฌอง-ปอลล์ เอกอน ซีอีโอ L’Oreal (ลอรีอัล) กล่าวว่า ลอรีอัลได้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปี 2020 ได้ถึง 80% บริษัทได้ปรับปรุงกระบวนการผลิต การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ การกระจายสินค้า เพื่อให้สินค้าของบริษัทสร้างผลบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม