โดย ศิริกุล สดับสำเนียง นักวิชาการด้านปศุสัตว์
ชะตาชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยช่วง 2 ปีมานี้ เรียกได้ว่า “พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก” เจอปัญหาไม่รู้จบ เห็นเค้าลางอาจต้องอำลาอาชีพในอนาคต จากปัญหาค้างคาตั้งแต่ปลายปี 2564 วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับราคาแรงกว่า 30% พอปี 2565 ประกาศพบโรค ASF ในประเทศ ผลผลิตหายไป 50% ไม่มีใครนำหมูเข้าเลี้ยงเพราะเสี่ยงขาดทุน เนื้อหมูในประเทศราคาดีมากแต่ไม่มีของขาย เลยโดน “หมูเถื่อน” หยิบชิ้นปลามันไปกินแบบสบายๆ กว่าปราบปรามให้คลี่คลายได้ใช้เวลา 1 ปีเต็ม มาปีนี้ 2566 หมูเถื่อนบรรเทาเหมือนปัญหาจะจบ แต่ราคาหมูดันตกต่ำ เพราะหมูที่ทยอยเลี้ยงตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาออกสู่ตลาดต่อเนื่อง คาดผลผลิตทั้งปีจะอยู่ที่ 18-19 ล้านตัว เกินกว่าความต้องการที่ประมาณ 16.5 ล้านตัว มีหมูเข้าโรงงานแปรรูปวันละ 55,000 ตัว เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19
ทุกข์ที่ 2 ของเกษตรกรในปีนี้เป็นการรับอานิสงส์ต่อเนื่องจากการปะทุของสงครามรัสเซีย-ยูเครน จากปีที่ผ่านมา คือ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงถึง 30% ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศสูงสุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนที่ 13.75 บาทต่อกิโลกรัม แม้จะปรับลดลงมาช่วงก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงประมาณ 12.50 บาทต่อกิโลกรัม ผู้เลี้ยงยังไม่ทันรับรู้ถึงราคาที่ปรับลดลง ต้องกลับมาเผชิญกับราคาสูงขึ้นทันทีหลังรัสเซียยกเลิกข้อตกลงความปลอดภัยในทะเลดำ ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีปรับขึ้นทันที 5-10% โดยไม่ทันตั้งตัว
คนที่แบกภาระหนักสุดขณะนี้ คือ เกษตรกรรายย่อยและรายเล็ก ที่มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในวงจำกัดแต่ปัจจัยการผลิตมีการปรับราคาขึ้นตลอดทำให้ต้นทุนการเลี้ยงต่อกิโลกรัมสูง สำหรับราคาเฉลี่ยหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม 62-74 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับต้นทุนผลิตเฉลี่ยที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม วิธีการในการตัดขาดทุนสะสมของเกษตร คือ การจับหมูไปทำหมูย่าง แทนการเลี้ยงจนได้น้ำหนักมาตรฐาน (110-120 กิโลกรัม) เพื่อตัดวงจรหมูที่จะออกสู่ตลาดและทำให้สถานการณ์ราคาดีขึ้น โดยเกษตรกรทางภาคใต้บางรายเริ่มใช้วิธีการนี้แล้ว
หนึ่งในตัวอย่างที่ปรับการเลี้ยงเพื่อความอยู่รอด คือ นางยุคล เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในจังหวัดตรัง หันมาผลิตหมูขนาดเล็กลงน้ำหนัก 70-80 กิโลกรัม ซึ่งขนาดไม่ใหญ่จนเกินไปและมันไม่เยอะ ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสำหรับส่งร้านหมูย่างในเมืองตรัง ซึ่งมีความต้องการสูง แทนการเลี้ยงจนได้น้ำหนักมาตรฐาน 100 กิโลกรัมขึ้นไป วิธีนี้ช่วยลดขาดทุนจากราคาหมูตกต่ำ สวนทางกับอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้นเรื่อย โดยราคาหมูหน้าฟาร์มขณะนี้ลดเหลือประมาณ 70-72 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น
ขณะที่ผู้เลี้ยงหมูต้องหาทางให้กิจการรอดด้วยตัวเอง หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่มีความเคลื่อนไหว ทั้งที่เป็นหน่วยงานสำคัญในการกำกับดูแลทั้งราคาอาหารคน ราคาอาหารสัตว์ รวมถึงราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จากโครงการประกันราคาขั้นต่ำพืชอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง ทั้งมาตรการที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี มีนัยสำคัญในห่วงโซ่การผลิตหมูเพราะอาหารสัตว์คิดเป็น 60-70% ของต้นทุนการผลิต การยกเลิกมาตรการดังกล่าวเป็นการลดต้นทุนให้เกษตรกร
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังกำหนดมาตรการ 3 : 1 สำหรับการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล่าวคือ ผู้นำเข้าต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ส่วนการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองต้องเสียภาษีนำเข้า 2% ยังคงเป็นภาระต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของเกษตรกร ซึ่งการคงไว้ของมาตรการดังกล่าวเหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนี้หรือไม่ ที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศราคา 12-12.50 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าราคาประกันของรัฐที่ตั้งไว้ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ความชื้น 14.5% ภาครัฐไม่ได้จ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกร 8-9 งวดติดต่อกัน
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวในการเสวนา เรื่อง “สารพันปัญหาถาโถม ภาคปศุสัตว์ ทางรอดหรือทางออก เป็นอย่างไร” ว่า สถานการณ์อาหารสัตว์มีแต่สูงขึ้นและราคาคงไม่ต่ำกว่านี้ แต่สูงเท่าไรคงเดายาก เพราะถ้าสงครามไม่เลิก ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ไม่ถอยแน่นอน นอกจากนี้ สภาพร้อนแล้งจาก “เอลนีโญ” ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวโพด ถั่วเหลือง และมันสำปะหลังโดยตรง หากผลผลิตน้อยและความต้องการสูงราคาก็จะสูงตามไปด้วย ซึ่งแต่ละปีไทยต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3 ล้านตัน และเมล็ดถั่วเหลือง 5 ล้านตัน เนื่องจากไทยผลิตพืชทั้ง 2 ชนิด ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาสูง เป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการ เพื่อให้ห่วงโซ่ภาคปศุสัตว์สามารถเดินหน้าได้โดยไม่หยุดชะงัก และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนไทยเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสมตามแนวทางการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน