บทความโดย ผศ.น.สพ.ดร. สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มหมูไทย
ปี 2565 นับเป็นปีแห่งวิกฤตซ้อนวิกฤตของผู้เลี้ยงหมู จากต้นทุนการเลี้ยงที่สูงทำให้ผู้เลี้ยงต้องแบกรับต้นทุนสูง สืบเนื่องจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังคงปะทุอยู่ ส่งผลให้ต้นทุนของภาคปศุสัตว์ที่สูงอยู่แล้วตั้งแต่ปลายปี 2564 พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รำ ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง อาทิ ข้าวโพดอาหารสัตว์ ที่พุ่งขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 13 บาท ล่าสุดมีราคากิโลกรัมละ 12.35 บาท จากแต่เดิมภาครัฐต้องมีมาตรการควบคุมราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขั้นต่ำที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท โดยต้นทุนวัตถุดิบสำคัญๆ นี้คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นรวม 25-30 %
ขณะเดียวกัน ภาวะโรคระบาด ทั้งโรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจหมู (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS) โรคระบบทางเดินอาหาร (Porcine Epidemic Diarrhea : PED) ที่ทำให้หมูเกิดอาการท้องเสียในหมูทุกช่วงอายุ และที่สาหัสสุดคือ โรคอหิวาต์แอฟริกัน (African Swine Fever : ASF) เป็นจุดเปลี่ยนของวงการเลี้ยงหมู เกษตรกรผู้เลี้ยงที่ยังอยู่รอดได้ต่างต้องให้ความสำคัญกับการนำระบบไบโอซีเคียวริตี้ มาปรับใช้ในระบบการเลี้ยง ยิ่งส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น โดยบางฟาร์มมีต้นทุนต่อตัวหมูถึง 500 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนรายที่เสียหาย และไม่สามารถไปต่อได้ ก็อำลาวงการไป ทำให้ปริมาณหมูในระบบลดน้อยลง ปริมาณลูกหมูที่เคยผลิตได้ 21-22 ล้านตัวต่อปี ซึ่งรองรับการบริโภคในประเทศได้อย่างเพียงพอ เหลือเพียง 12-13 ล้านตัวต่อปี
ในภาวะที่ผู้เลี้ยงหมูพยายามประคับประคองราคาหน้าฟาร์มไว้ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม กลับมีวิกฤตซ้อนวิกฤตให้เกษตรกรเผชิญคือ “หมูเถื่อน” หรือ “หมูกล่อง” จากประเทศต่างๆ เช่น บราซิล เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สเปน มาในรูปของเนื้อหมู และชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งขา หัว เครื่องใน ที่ออกมาขายกันเกลื่อนเมือง และขายในราคาต่ำมากที่ 135-140 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งหมูเถื่อนเหล่านี้มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อ ASF แทบทั้งหมด จากที่มีการตรวจพบเชื้อดังกล่าวในเนื้อหมูที่ขายตามตลาดในกรุงเทพฯ อีกทั้งยังมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง สารต้องห้ามตาม พรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ของไทย ของกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่ปี 2546
สืบเนื่องจากประเทศต้นทางยังไม่เข้มงวดกับสารตกค้างในเนื้อสัตว์ ทั้งยาปฏิชีวนะ สารเร่งเนื้อแดง และยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้ หมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามายังเป็นเนื้อหมูหมดอายุจากประเทศต้นทาง ทำให้สามารถขายได้ในราคาถูก กล่าวได้ว่า เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับหมูขยะ ทำให้ประเทศต้นทางไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำลาย โดยส่งบรรดาเศษหมูเหลือทิ้งเหล่านั้น เข้ามาทำลายกลไกการเลี้ยงหมูในประเทศ
ท่ามกลางสถานการณ์หมูเถื่อน จึงจัดเป็น “มหันตภัย” ของประเทศ ทำลายทั้งสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค อาจ “ตายผ่อนส่ง” จากสารเร่งเนื้อแดง ข้อสำคัญผู้บริโภคต้องไม่เห็นแก่ของถูก ควรเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ด้วยการสังเกตสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ที่การันตีกระบวนการผลิตหมูปลอดภัยไร้สารตกค้าง ส่วนผู้ค้าต้องไม่นำหมูเถื่อนเหล่านี้มาขาย เพียงเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ขอให้เห็นแก่สุขอนามัยที่ดีของผู้บริโภคไทยทุกคน รวมทั้งยังช่วยพยุงอาชีพการเลี้ยงหมูของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งการเลี้ยงหมูช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี
ดังนั้น การกวาดล้าง “หมูเถื่อน” จึงเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนที่ต้องไม่นิ่งดูดาย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะต้องร่วมดำเนินการอย่างบูรณาการ ทั้งกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร และตำรวจ ในการจัดการปัญหาลักลอบนำเข้าอย่างจริงจัง เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยอาหารของประเทศ ช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจในการฟื้นฟูการเลี้ยง ผลิตเนื้อหมูคุณภาพดีให้กับผู้บริโภค