“สินค้าเกษตร-ปศุสัตว์” ตัวช่วย … พลิกเศรษฐกิจชาติ

บทความโดย สมคิด เรืองณรงค์

ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน COVID-19  ไวรัสอณูเล็กๆที่ระบาดไปทั่วทุกภูมิภาค ก็ทำผู้ป่วยติดเชื้อไปแล้วกว่า 13.1 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้ต้องหมดลมหายใจตายจากบุคคลอันเป็นที่รักไปแล้วกว่า 5.7 แสนคน มันกำลังทำลายโลกทั้งใบ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคน ภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของโลก ความล่มสลายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การล้มละลายของธุรกิจใหญ่อย่างสายการบิน การตกต่ำของตลาดหุ้นทั่วโลก หรือแม้แต่เรื่องใกล้ตัวอย่างเศรษฐกิจในบ้านเรา ก็หนีไม่พ้นความร้ายกาจของมัน

การประชุมประเมินสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยปี 2563 ที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าหารือ ซึ่งคาดการณ์ได้ว่า ภาพรวมการส่งออกของประเทศไทยตลอดปี 2563 จะติดลบถึง 8.7% แต่หากพิจารณาการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2563 จะติดลบสูงถึง 22.50%  บั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศที่อาศัยการท่องเที่ยวและส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนอย่างมาก … ถ้าแยกสินค้าส่งออกเป็นรายเซคเตอร์จะพบว่าสินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดีมีเพียง “กลุ่มสินค้าอาหาร” “กลุ่มสินค้าอิเลคทรอนิคส์และชิ้นส่วน” รวมถึง “กลุ่มอัญมณีและทองคำ” เท่านั้น  

เมื่อ “เงินทองคือของมายา…ข้าวปลาสิของจริง”  น่าจะเป็นประเด็นหลักสำหรับทุกชีวิตบนโลก “อาหาร” เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต และในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19… อาหารย่อมสำคัญกว่าอัญมณี ซึ่งก็น่าดีใจที่ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในเล้ามีหมูมีไก่ เราไม่เคยขาดแคลนอาหาร และ “สินค้าเกษตร-ปศุสัตว์” นี่ล่ะที่จะเป็นพระเอก ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของชาติ ในวิกฤตไวรัสร้ายนี้ได้   

หมูไทย ใครๆก็ต้องการ

               ก่อนหน้าโควิด-19 วงการหมูทั่วโลกก็ปั่นป่วนจากการระบาดของโรค ASF ที่ระบาดหนักในจีน​ มองโกเลีย​ เวียดนาม​ กัมพูชา​ เกาหลี​ เมียนมาร์ ลาว ฯลฯ โรคนี้ทำให้หมูมีอัตราการตาย 100%  ปัจจุบันยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน และส่งผลให้ปริมาณหมูหายไปจากโลกหลายร้อยล้านตัว​ เกิดภาวะหมูขาดแคลนในหลายประเทศ เมื่อไม่เพียงพอระดับราคาหมูในตลาดโลกจึงทะยานสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น ในจีนและเวียดนามที่ราคาหมูพุ่งขึ้นถึง 300%  เมื่อผนวกกับปัญหาโควิด-19 ที่ระบาดในมนุษย์ ส่งผลให้คนงานโรงงานอาหารในสหรัฐและยุโรปต้องเสียชีวิตและหยุดงาน ยิ่งกระทบปริมาณเนื้อสัตว์และอาหารของโลก ทำให้ภาวะขาดแคลนอาหารเป็นอันตรายใกล้ตัวของประชาชนในหลายๆประเทศมากยิ่งขึ้น  

            เกษตรกรไทยเก่งมากที่สามารถร่วมมือกันป้องกันโรค ASF ได้สำเร็จเป็นหนึ่งเดียวของภูมิภาคนี้ ทำให้ผู้บริโภคไทยไม่ต้องเผชิญกับภาวะหมูขาดแคลน ระดับราคาหมูในประเทศไทยจึงถูกที่สุดในภูมิภาค เป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ทั้งผู้บริโภค และเศรษฐกิจของประเทศ  “หมูไทย” จึงเป็นความมั่นคงทางอาหารของเรา ที่เป็นหน้าเป็นตา เป็นที่หมายปองและต้องการของนานาประเทศถึงกับมีการส่งคนเข้ามาเจรจาขอนำเข้าหมูไทยไปบ้านเขาเพื่อลดปัญหาขาดแคลนให้ประชาชน

            สินค้าเกษตร-ปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หมูไทย” จึงฉายแสงออร่า เป็นพระเอกขี่ม้าขาวที่จะช่วยพลิกเศรษฐกิจของไทยได้อย่างชัดเจน ลำพังแค่ส่งออก… หมูเป็น …ไปตามประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ก็นำเข้าเงินตราแก่ไทยมหาศาล ยังไม่นับรวมการส่ง “หมูซีก” ไปฮ่องกง หรือที่อื่นๆ ซึ่งล้วนอ้าแขนต้อนรับ เพราะคุณภาพที่เหนือชั้น ปลอดภัย ปลอดโรค และหาไม่ได้ง่ายๆในขณะนี้  … “หมู” จึงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดีที่สุดของไทย และโอกาสเช่นนี้ไม่ได้มีมาบ่อยๆ หากไทยไม่รีบคว้าไว้ ก็เท่ากับเราทิ้ง “ความหวังของชาติ” ไปอย่างไร้ค่าที่สุด

ระดับราคาหมู….มีที่มา 

จากสถานการณ์ที่กล่าวมา ทำให้ระดับราคาหมูหน้าฟาร์มในประเทศไทยที่แม้จะถูกที่สุดในภูมิภาค ก็อาจขยับขึ้นบ้าง ซึ่งก็เป็นเพราะซัพพลาย-ดีมานด์ในตลาดโลกดังกล่าว เมื่อผนวกกับเหตุผลที่กรมการค้าภายในอธิบายไว้ว่า “ราคาที่ขยับส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการผ่อนคลาย ให้ธุรกิจต่างๆสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้นหลังจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศคลี่คลายในทิศทางที่ดี ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร ห้างค้าปลีก และโรงแรมต่างสั่งซื้อเนื้อหมูมาสำรองสต็อกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้บริโภค ประกอบกับเป็นช่วงที่โรงเรียนเพิ่งเปิดเทอมทำให้ความต้องการเนื้อหมูมากจากก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นระยะสั้นๆและไม่นานราคาหมูก็จะกลับมาอยู่ในระดับปกติ”   ก็นับเป็นเหตุเป็นผลที่ฟังขึ้นและยอมรับได้  

เกษตรกรเองแม้จะมีการลงทุนด้านต่างๆเพื่อป้องกันโรค ASF อย่างมากกระทั่งประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่ได้มุ่งหวังกดดันให้คนไทยด้วยกันต้องแบกรับค่าครองชีพซ้ำเติมในสถานการณ์โควิด-19  โดยได้ตกลงกับภาครัฐไว้ว่าจะรักษาระดับราคาหมูหน้าฟาร์มไว้ไม่ให้เกิน กก.ละ 80.- บาท เพื่อให้ราคาหมูเนื้อแดงหน้าเขียงไม่เกิน กก.ละ 160.- บาท หากใครพบการค้าขายหน้าฟาร์มหรือหน้าเขียงที่เกินกว่านี้ ขอให้ช่วยเป็นหูเป็นตา แจ้งกรมการค้าภายในที่ 1569 ทันที

วันนี้ก็มีเพียง “หมูไทย” ที่จะไปกอบกู้เศรษฐกิจชาติได้ทันที  จึงไม่ควรให้มีดราม่าราคาหมูภายในประเทศ มาบั่นทอนโอกาสของชาติ … อย่าลืมว่าห่วงโซ่การผลิตหมูนั้นยาวนักไม่ใช่เพียงเกษตรกร 2 แสนราย แต่ยังหมายรวมถึงชาวนาและเกษตรกรผู้ปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพด รำข้าว ปลายข้าว มันสำปะหลัง อีกนับล้านครอบครัวที่จะสามารถขายผลผลิตได้มากขึ้นในราคาสูงขึ้น ที่จะได้ลืมตาอ้าปากไปด้วยกันอีกครั้ง เมื่อฐานรากในกลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง ทุกภาคส่วนของประเทศจะขับเคลื่อนได้ต่อเนื่อง … เป็นการพลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทยในยุคโควิด-19 ให้กลับมาผงาดได้อย่างสง่างาม