เครือข่ายสิงห์อาสา 3 สถาบันการศึกษา ขึ้นดอย
สร้างแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ให้โรงเรียนบนดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่
เพราะไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่สำคัญเชื่อมต่อให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กได้รู้เท่าทันต่อสังคมโลก “สิงห์อาสา” โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จับมือ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่, วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกันออกแบบ พัฒนา และติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ภายในโรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง สาขาบ้านขุนปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ที่ไม่มีไฟฟ้ามานานกว่า
50 ปี ต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ทำให้การเรียนการสอนของเด็กๆ ไม่ต่อเนื่อง เพราะปริมาณไฟต้องขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ หากน้ำไม่เพียงพอก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของเด็ก โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และร่วมติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ส่องสว่างในห้องเรียน และต่อยอดในกระบวนการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ อาทิ การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม การค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างระบบไฟเพื่อส่องสว่างตอนกลางคืนตลอดเส้นทางภายในหมู่บ้าน รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งาน ดูแลรักษา และการซ่อมบำรุงให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อนำกระแสไฟฟ้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการดำเนินชีวิตตามแบบวิถีชุมชน ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ รุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
นายรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า “เป็นเวลา 10 กว่าปี สิงห์อาสาเติบโตและกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการนำความสุขและรอยยิ้มเพื่อส่งมอบให้ผู้คนที่ต้องการ มีสมาชิกร่วมเป็นเครือข่ายสิงห์อาสามากขึ้น ทั้งเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาทั่วประเทศ, เครือข่ายกู้ภัย-กู้ชีพ, หน่วยงานราชการต่างๆ ภารกิจของสิงห์อาสาจึงมีมากกว่าการเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเกิดอุทกภัยหรือภัยพิบัติอย่างที่ทำมาโดยตลอด การจับมือกับเครือข่ายเข้ามาทำแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ ในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ให้เด็กๆในพื้นที่ที่ห่างไกลมีไฟฟ้าไว้ใช้ในการเรียนการสอน ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงการสอนชาวบ้านใช้งาน ดูแลรักษา และซ่อมบำรุงแผงโซลาร์เซลล์ หลังจากนี้ก็จะทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน”
นายอินชัย จันทะกี อาจารย์แผนกวิชาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ กล่าวว่า “วิทยาลัยฯและสิงห์อาสาได้ร่วมกันวางแผนและออกแบบระบบโซลาร์เซลล์ที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย สำหรับนำไปติดตั้งที่โรงเรียนสาขาขุนปั๋ง โดยแผงโซลาร์เซลล์มีขนาด 3.30 กิโลวัตต์ มีระบบจัดเก็บและสำรองไฟฟ้าสำหรับใช้ในห้องเรียนยาวนานกว่า 12 ชั่งโมงต่อวัน และมีกำลังไฟเพียงพอสำหรับการใช้อุปกรณ์ส่องสว่าง เครื่องคอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ได้ในช่วงเวลาพร้อมๆ กัน ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้ของนักเรียนเกิดความต่อเนื่อง และพลังงานไฟฟ้ายังมีเพียงพอสำหรับให้ชุมชนได้นำไปสำหรับไฟส่องสว่างในช่วงเย็นและยามค่ำคืนอีกด้วยเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในชุมชนด้วย”
นายดิเรก อุ่นวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง อธิบายว่า “โรงเรียนแห่งนี้ถูกโอบล้อมด้วยดอยสูง เป็นห้องเรียนผสมผสานที่จัดการสอนให้นักเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงป. 6 จำนวน 12 คน ครูที่นี่จึงเป็นทั้งพ่อ แม่ เพื่อน ที่พยายามถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กๆ อย่างสุดความสามารถ ด้วยองค์ความรู้และข่าวสารในปัจจุบันที่ก้าวหน้าไปไกลมาก เด็กๆ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ มากขึ้น ทางโรงเรียนจึงรู้สึกดีใจที่จะได้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กๆ เมื่อมีไฟฟ้าเพียงพอ ห้องเรียนก็จะสว่าง ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของเด็ก โรงเรียนสามารถให้เด็กๆ ได้เรียนผ่านการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และยังสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตดาวเทียมให้เด็กๆ ได้ค้นคว้าความรู้ใหม่ๆ ช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนให้ดีขึ้นได้ และในช่วงเย็นยังได้วางแผนใช้ลานหน้าโรงเรียนเป็นพื้นที่พบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชนด้วย”
ภายหลังจากติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เสร็จเรียบร้อย สิงห์อาสาและเครือข่ายนักศึกษา จะร่วมกันถ่ายองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งาน การดูแลรักษา และการซ่อมบำรุงให้แก่ครูและชุมชน เพื่อนำกระแสไฟฟ้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการดำเนินชีวิต ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการศึกษาของเด็กๆ รุ่นใหม่ให้ได้รับความเสมอภาคและมีคุณภาพ แม้โรงเรียนสาขาขุนปั๋งจะมีนักเรียนเพียง 12 คน แต่การมีไฟฟ้าใช้ในห้องเรียน ก็เทียบได้กับการมอบโอกาสให้เด็กได้ออกไปทำความรู้จักกับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ได้รู้เท่าทันภัยสังคมจากข่าวสาร เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่ผันไปตามยุคสมัย และได้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต ทั้งหมดนี้คือการต่อยอดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กได้เติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพโดยมีไฟฟ้าเป็นตัวจุดประกายอนาคตของเด็กๆ ให้สว่างไสวจากยอดดอย