“ประกาศนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลือง” ปี 2563-2566 กำลังจะสิ้นสุด 31 ธันวาคมนี้ ทั้งที่มีกำหนดต่ออายุประกาศทุกๆ 3 ปี แต่กลับไม่ได้รับการเสนอในที่ประชุม ครม. คาดนำเข้าไม่ทันการณ์ ภาคปศุสัตว์เตรียมรับผลกระทบหนัก ไม่มีวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ เดือดร้อนทั้งระบบ
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองปีละเกือบ 3 ล้านตันเพื่อผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากไทยผลิตถั่วเหลืองได้เพียงปีละ 2-3 หมื่นตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ สินค้ากากถั่วเหลืองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายอาหาร กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้พิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยมีกำหนดพิจารณาคราวละ 3 ปี และประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองปี 2563-2566 กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาโดย ที่ประชุม ครม. ก่อนเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯ ได้มีหนังสือติดตามความคืบหน้าการดำเนินการออกประกาศดังกล่าวไปแล้วหลายฉบับ ตั้งแต่ฉบับแรกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 – ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2566 – ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 แต่ยังไม่เป็นผล จนกระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2566 จึงมีการประชุม คณะกรรมการนโยบายอาหาร ครั้งที่ 1/2566 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยกระทรวงพาณิชย์ มีหนังสือเสนอประกาศดังกล่าว เข้า ครม.ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 แต่ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่ถูกบรรจุเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งกินเวลาร่วม 2 เดือนแล้ว ล่าสุด จะถูกบรรจุวาระเข้าในการประชุม ครม.วันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่สุดท้ายกลับมีการถอนวาระดังกล่าวออกโดยไม่ทราบสาเหตุ และแจ้งว่าจะบรรจุเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งในวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวันประชุม ครม.วันสุดท้ายของปี 2566 และเป็นไปไม่ได้เลยที่การประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองจะดำเนินการได้ทัน เพราะภายหลังจากผ่านที่ประชุม ครม.แล้ว จะต้องมีกระบวนการออกประกาศยกเว้นอากรของกระทรวงการคลังอีกขั้นตอนหนึ่ง
ข้อมูลขณะนี้พบว่า วันที่ 3 มกราคม 2567 จะมีเรือขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองเข้าสู่ประเทศไทยเป็นลำแรก และตลอดเดือนมกราคม 67 จะมีเรือนำเข้ากากถั่วเหลืองจำนวน 4 ลำ รวมปริมาณ 2.1 แสนตัน ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองออกไม่ทัน ได้แก่ 1.) เรือที่ขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองที่จะเข้ามาไทยจะไม่สามารถขนถ่ายสินค้าได้ และมีค่าใช้จ่าย (Demurrage Charge) วันละ 2.5 แสนบาท/ลำเรือ และเดือน มค. มีเรือเข้ามาพร้อมกัน 4 ลำ จะมีค่าใช้จ่ายรวม 1 ล้านบาท/วัน นับไปทุกวันจนกว่ารัฐบาลจะออกประกาศ และ 2.) ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า กรณีประกาศลดหย่อนอัตราภาษีของกระทรวงการคลังออกล่าช้า กรณี มค.67 มีรายการเข้ามาจำนวน 2.1 แสนตัน มูลค่านำเข้าประมาณ 4,200 ล้านบาท มูลค่าภาษีที่ต้องสำรองจ่ายจะสูงถึง 336 ล้านบาท และมีอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า 1.68 ล้านบาท/เดือน ระยะเวลาขอคืนภาษี 6 เดือน คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่าในเดือน มค.รวม 10.08 ล้านบาท
“ทั้งหมดเป็นความเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากผู้ประกอบการ แต่เกิดจากความล่าช้าของรัฐ ที่สำคัญ ความเสียหายต่อเนื่องยังมีอีกมาก หากเกิดการหยุดชะงักของกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ เพราะไม่มีวัตถุดิบในการผลิต อันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้บริโภค และกระทบต่อการส่งออกสินค้า เนื้อไก่ และกุ้ง ซึ่งมีมูลค่าทั้งระบบรวมกันกว่าหนึ่งล้านล้านบาท ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ รัฐบาลต้องออกประกาศดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน เพื่อจำกัดความสูญเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด” นายพรศิลป์กล่าว
ล่าสุด สมาพันธ์ฯ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี เร่งรัดประกาศดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อระงับความสูญเสียต่อภาคธุรกิจอาหารสัตว์และปศุสัตว์
ทั้งนี้ สมาชิกสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประกอบด้วย 1.) สมาคมปศุสัตว์ไทย 2.) สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ 3.) สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก 4.) สมาคมกุ้งไทย 5.) สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ 6.) สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย 7.) สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 8.) สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ 9.) สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย 10.) สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก 11.) สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย 12.) สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ 13.) สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ 14.) สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และ15.) สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย