โดย รัฐพล ศรีเจริญ
ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกกลายเป็นวิกฤตของมวลมนุษยชาติ ยิ่งเมื่อ 3 องค์กรระหว่างประเทศ FAO-WHO-WTO ได้แสดงความกังวลว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาคมโลกอาจประสบกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเทศที่ผลิตอาหารไม่ได้ จนต้องทำแผนสำรองอาหาร ยิ่งทำให้วิกฤติครั้งนี้ดูเลวร้ายขึ้น
หากแต่ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสที่เปิดกว้างอยู่ เพราะต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านการผลิตอาหาร จากพื้นฐานการเป็นประเทศเกษตรกรรม มีการผลิตพืชและสัตว์สำหรับบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอและสามารถส่งออกไปยังตลาดโลก สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายในการจะทำให้ประเทศไทยเป็น “ครัวของโลก”
ปี 2562 ที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 11 ของโลก ด้วยมูลค่า 33,100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีส่วนแบ่ง 2.51% ในตลาดโลก และเมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากจีนเท่านั้น ล่าสุดการส่งออกของไทยเดือนมีนาคม 2563 มีการขยายตัวสูงสุดในระบ 8 เดือน โดยขยายตัว 4.17% มีมูลค่าส่งออก 22,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นสินค้าเกษตรแปรรูปที่ยังขยายตัวได้ดี โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ วิเคราะห์ว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูปและอาหารมีความเด่นชัดมากขึ้น
เมื่อเจาะไปที่อุตสาหกรรมส่งออกปศุสัตว์ที่สำคัญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไก่เนื้อ ไทยถือเป็นแนวหน้าของการพัฒนาใน กระทั่งเป็นผู้ผลิตไก่รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก เป็นการบริโภคในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 62.91% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยไทยเป็นผู้ส่งออกไก่เป็นอันดับ 4 ของโลก ไปยังกลุ่มตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (EU) ในปี 2562 ไทยส่งออกเนื้อไก่ไปตลาดญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 438,000 ตัน มูลค่า 59,700 ล้านบาท และอันดับ 2 ในตลาด EU ประมาณ 320,000 ตัน มูลค่า 33,800 ล้านบาท และปริมาณในตลาดอื่น ๆ 196,000 ตัน มูลค่า 18,000 ล้านบาท
โดยปี 2563 นี้ไทยมีเป้าหมายการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ที่ ปริมาณ 980,000 ตัน มูลค่า 120,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันไก่เนื้อหน้าฟาร์มราคาซื้อขายจริงอยู่ที่กิโลกรัมละ 31 บาท ขณะที่กัมพูชาราคาอยู่ที่ 30 บาท เมียนมา 34 บาท ส่วนจีนที่เป็นประเทศผู้บริโภคหลักของโลกราคาพุ่งไปถึง 45 บาทแล้ว
ขณะที่อุตสาหกรรมสุกรของไทย คาดว่าปีนี้จะมีปริมาณการผลิตสุกร 1.68 ล้านตัน สินค้าสุกรส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศถึง 92.86% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ที่เหลือเป็นการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าการส่งออกในช่วงนี้อาจติดขัดเรื่องการปิดด่านพรมแดนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ด้วยมาตรฐานการผลิตของไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านยังมีความต้องการสุกรมีชีวิตจากการระบาดของโรค ASF ในต่างประเทศ จึงถือเป็นโอกาสในการส่งออกหมูไทยอย่างไม่ต้องสงสัย
ส่วนราคาซื้อขายหมูขุนหน้าฟาร์มของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 63 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ลาวราคาอยู่ที่ 77 บาท เมียนมา 80 บาท กัมพูชา 96 บาท เวียดนาม 99 บาท และจีนที่ขาดแคลนเนื้อหมูอย่างหนักจากวิกฤติโควิดราคาสูงถึง 157 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว
เรียกได้ว่าทั้งไก่และหมูไทยจะกลายเป็นที่น่าจับตาในตลาดโลก ทั้งจากราคาที่สามารถแข่งขันได้ ที่สำคัญสินค้าปศุสัตว์ทั้งสองชนิดก็มีจุดแข็งที่มาตรฐานการผลิต ควบคู่กับการควบคุมป้องกันโรคที่เข้มงวด
ต่อจากนี้ต้องฝากเป็นการบ้านของรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศว่า ไทยพร้อมเป็นครัวของโลกในยามวิกฤติ โดยเน้นไปยังประเทศเป้าหมายอย่างจีน เกาหลี ฮ่องกง ที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และเริ่มมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นก่อน ขณะเดียวกันก็เจาะไปที่ประเทศที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ควบคู่กับหลายประเทศที่เริ่มมีภาวะขาดแคลนอาหาร และไม่ลืมมองไปยังหลายประเทศที่มีมาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งส่งผลให้การผลิตสินค้าเกษตรเป็นไปได้ยาก
ดังนั้นไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารโลก ต้องเร่งใช้โอกาสนี้ขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และผลักดันสินค้าไปจำหน่ายทั่วโลก เพราะเชื่อว่าจะเป็นที่ต้องการอย่างแน่นอน วิกฤติโควิด…จึงเป็นโอกาสของหมูไก่ไทยอย่างแท้จริง