วันอาหารโลก 16 ตุลาคม ชวนคนไทยร่วมสร้างสิทธิในการเข้าถึงอาหารที่ดีถ้วนหน้า

ผู้เชี่ยวชาญชี้ ทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ช่วยขจัดปัญหาความอดอยากหิวโหย ให้ทุกคนเข้าถึงอาหารเพียงพอและปลอดภัยได้ ด้วยการช่วยกันลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) และลดขยะอาหาร (Food Waste) ร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารและโอกาสการเข้าถึงอาหารที่ดีมีคุณค่าทางโภชนาการให้กับประชากรโลกอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.รชา เทพษร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) โดยปีนี้ “World Food Day 2024” ภายใต้แนวคิด “สิทธิทางอาหาร เพื่อทุกคนอิ่มดีถ้วนหน้า และอนาคตที่ดีกว่า (Rights to foods for a better life and a better future)” ซึ่งทุกภาคส่วน รัฐบาล เอกชน เกษตรกร ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชน ต้องร่วมมือกันสร้างความหลากหลายของอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ในราคาเข้าถึงได้ ปลอดภัย และยั่งยืน เพื่อบรรลุความมั่นคงทางอาหารและการมีโภชนาการที่ดีสำหรับทุกคน

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเริ่มได้จากเรื่องใกล้ตัวที่สุด คือ การลดขยะอาหาร ที่เกิดจากฝั่งผู้บริโภคจากการรับประทานอย่างพอเหมาะ เพียงพอ ไม่เหลือทิ้ง ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดในเรื่องนี้ ขณะที่การสูญเสียอาหาร เกิดจากภาคผู้ผลิต ที่สามารถลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต ตามแนวทางการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.รชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยควรมีแคมเปญรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการสูญเสียอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคตื่นรู้โดยไม่คิดว่าเราจะมีอาหารให้กินตลอดเวลา เพราะยังมีประชากรโลกอีก 1 ใน 3 ที่ไม่มีอะไรกิน การรณรงค์สร้างจิตสำนึกเรื่องการลดขยะอาหารจึงเป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมโลก สร้างการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยอย่างทั่วถึง

สำหรับภาคเอกชนในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ทั้งผู้ผลิตอาหาร ผู้ค้าปลีกอาหาร หรือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) ล้วนมีบทบาทสำคัญสำหรับการจำกัดปริมาณขยะอาหาร ตลอดจนการนำนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัยมาสนับสนุนประสิทธิภาพการผลิต ลดการเน่าเสีย ยืดอายุการเก็บรักษา ตอบโจทย์การขนส่งในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้อาหารปลอดภัยต่อการบริโภค ดีต่อสุขภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับผู้บริโภคทุกคน

“การสูญเสียอาหารและขยะอาหารยังเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น เพราะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ผลตามมาคือปลูกพืชไม่ได้ เลี้ยงสัตว์ไม่ได้ โดยยังมีคนที่ทนงตัวว่าของกินเยอะซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมสร้างขยะอาหาร อีกไม่นานก็จะเข้าอยู่สภาวะไม่มีอาหารในบางฤดู จึงต้องคำนึงถึงลูกหลานในอนาคตด้วยว่าพวกเขาต้องมีสภาพสังคมที่ดีและเข้าถึงอาหารได้” ผศ.ดร. รชา กล่าว

นอกจากนี้ นวัตกรรมยังช่วยสร้างแหล่งอาหารใหม่ เช่น การวิจัยทำโปรตีนจากแมลง เพื่อแก้ปัญหาโปรตีนขาดแคลน ตลอดจนมีการใช้เห็ดเป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตอาหารที่มีโปรตีนมากขึ้น ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีผลิตอาหารให้กับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มที่มีอาการแพ้อาหาร เช่น กลุ่มที่แพ้กลูเตน เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้เข้าถึงอาหารได้ตามที่ร่างกายต้องการ

ในขณะเดียวกัน อาหารแช่แข็ง (Frozen Food) เป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้อาหารอยู่ได้นานขึ้น ผ่านการแปรรูปน้อย ด้วยหลักการเก็บอาหารในอุณหภูมิต่ำทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี จุลินทรีย์น้อยลง อาหารจะเก็บรักษาได้นานขึ้น แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ เปลี่ยนแปลงทางกายภาพ หรือสูญเสียน้ำในระหว่างการทำละลาย หากเทคโนโลยีการแช่แข็งดีเหมาะสม ควบคุมกระบวนการผลิตดี สะอาด ปลอดภัย ก็สามารถแก้ไขเรื่องการขาดแคลนอาหารได้ ตอบโจทย์ความมั่นคง