“เกรียนพาเที่ยว” ครั้งนี้ ขอพาคุณผู้อ่านไปเดินเที่ยวชมสวนมะพร้าว ซึ่งเป็นสวนผลไม้ที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่งในย่านจอมทอง กรุงเทพฯ โดยการเดินทางครั้งนี้ เราเดินทางไปกับคุณ“อาณัติ ปลอดโปร่ง” ไกด์ท้องถิ่นและนักเล่าเรื่อง ที่ทำงานคลุกคลีกับชุมชนริมน้ำมาเป็นเวลานาน
ทริปนี้ มีความน่าสนใจตรงที่เป็นพาลูกทริปไปเที่ยวชมสวนมะพร้าว ริมคลองบางประทุน ย่านจอมทอง ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นโอเอซิสสีเขียวแหล่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ เพราะปัจจุบันนี้ พื้นที่สวนผลไม้ในกรุงเทพฯ ค่อยๆ ล้มหายตายจายไปจากความเจริญรุกเข้ามาโอบล้อมพื้นที่คลองบางประทุนรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการตัดถนน, การรุกเข้ามากว้านซื้อที่ของหมู่บ้านจัดสรร และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวบ้านเอง
เราเดินทางโดยใช้เรือหางยาวขนาดเล็ก เพราะสามารถลัดเลาะไปตามคลองแยกต่างๆ ได้สะดวกกว่าเรือแท็กซี่ที่เคยใช้อยู่บ่อยครั้ง โดยใช้เส้นทางคลองภาษีเจริญ -คลองบางระแนะ และเลี้ยวเข้าคลองบางประทุนที่มีขนาดคลองค่อนข้างเล็ก ทันทีที่แล่นเรือเข้าสู่คลองบางประทุน เราจะพบต้นไม้ริมคลองทั้งสองฝ้่งทอดกิ่งก้านให้ร่มเงาตามแนวคลองจนเหมือนเป็น “ประทุน” สมกับชื่อคลอง แม้ว่าปัจจุบัน พื้นที่ร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่จะปรากฏหลงเหลือให้เห็นน้อยลงกว่าอดีตที่ผ่านมา และถูกแทนที่ด้วยกำแพงสูงสร้างกั้นตามแนวคลองของหมู่บ้านจัดสรร
เป้าหมายแรกของการเดินทางวันนี้ คือการลุยสวนมะพร้าว เราได้พบกับป้าแจ่ม ชาวสวนที่เช่าพื้นที่ตรงนี้เพื่อปลูกต้นมะพร้าวบนเนื้อที่กว่า 8 ไร่ ป้าแจ่มจัดเตรียมมะพร้าวน้ำหอม มาเฉาะให้ดื่มน้ำมะพร้าวน้ำหอมแบบสดๆ จริงๆแล้ว ยังมีมะพร้าวเผาแท้ดั้งเดิมแห่งคลองบางประทุน แต่น่าเสียดายที่เช้าวันที่เราเดินทาง มีฝนตกหนัก จึงไม่ได้มีการเผามะพร้าวโดยใช้ฟืนให้ได้ชม เพราะต้องใ้ช้เวลาเผามะพร้าวนานกว่า 2-3 ชม. เลยทำให้เราอดชิมน้ำมะพร้าวเผาของแท้ไปอย่างน่าเสียดาย
ป้าแจ่มเล่าให้ฟังว่า สวนแห่งนี้ให้ผลิตผลมะพร้าวขายได้ทุกวัน บางวันเธอก็ขนมะพร้าวไปทางเรือเพื่อไปขายตลาดใกล้เคียงตกวันละ 50 ลูก ยังไม่นับรวมกับออเดอร์จากเจ้าใหญ่ เช่น ภูมิใจการ์เดนท์ หรือบางครั้งมีคนมาซื้อถึงที่สวนเองเลยก็มี ป้าแจ่มยอมรับว่า หมดจากรุ่นของป้าแจ่มแล้ว คงจะยากที่จะมีรุ่นลูกรุ่นหลานมาสืบทอดกิจการสวนมะพร้าวต่อ
หลังจากใข้เวลาอยู่ที่สวนมะพร้าวจนเต็มอิ่มแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางต่อไปยังพิกัดต่อไป ก่อนออกจากสวน ป้าแจ่มยังสอยมะม่วง ชมพู่ ที่ปลูกแซมอยู่ให้เราติดไม้ติดมือกลับบ้านอีกด้วย
เรายังล่องเรือในเส้นทางคลองบางประทุนกันอยู่ เป้าหมายปลายทางต่อไปคือ วัดแก้วไพฑูรย์ หรือชื่อเดิมว่าวัดบางประทุนใน เพื่อชมความงามของศาลาการเปรียญไม้สักในสมัยรัชกาลที่ 3 ศาลาการเปรียญแห่งนี้เดิมอยู่ในสภาพเก่าทรุดโทรมมากจนได้รับการบูรณะใหม่จากความร่วมมือของภาคเอกชนจนเสร็จประมาณปีพ.ศ.2560
แอดมินต้องขอยอมรับว่า แรกๆ ตอนเห็นตารางทริปว่าจะมาเที่ยวชมที่วัดนี้ ก็ไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรเป็นพิเศษ แต่เมื่อได้สัมผัสกับสถานที่จริงแล้ว ต้องขอบอกว่า ความสวยงามของศาลลาการเปรียญแห่งนี้ สร้างความรู้สึกประทับใจได้อย่างมากเลยทีเดียว สมกับคำกล่าวยกย่องว่า เป็นเรือนไม้อันวิเศษ หนึ่งเดียวในสยาม
ความโดดเด่นภายนอกคือ ภาพแกะสลักไม้เป็นเรื่อง “สุธนุชาดก” จากปัญญาสชาดก บนแผ่นร่องตีนช้าง ตรงพื้นที่ด้านล่างบริเวณมุมทั้งสองของกรอบหน้าต่าง รอบศาลาการเปรียญ ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 44 ช่อง แต่ละช่องได้รับการบูรณะ ทั้งที่เป็นชิ้นดั้งเดิม และชิ้นที่แกะสลักขึ้นใหม่แทนชิ้นเดิมที่สูญหายไป คุณอาณัติเล่าให้ฟังว่า ชิ้นส่วนที่หายไปนั้น เป็นเพราะสมัยก่อนถูกโจรลักของเก่ามาแอบแกะทั้งแผ่นไปตามใบสั่ง โดยใช้วิธีแกะแล้วโยนลงคลองไป และจะมีทีมที่อยู่ต้นทางคอยเก็บชิ้นส่วนที่ไหลไปคลอง เราสามารถสังเกตได้ว่า บางมุมของศาลา ร่องตีนช้างเป็นของใหม่เสียมาก แสดงว่า อาจเป็นมุมที่ลับตาจนถูกโจรลักลอบแกะไปเสียเกือบหมด
ขณะที่ความงดงามภายในศาลาการเปรียญ ไม่ว่าจะเป็นภาพจิตรกรรมบนผนัง เสา คอสอง บานหน้าต่าง ประตู ล้วนสร้างความประทับใจได้ไม่แพ้กัน พื้นที่ภายในศาลาฯ ยังประดิษฐานธรรมาสน์ยุคกรุงศรีอยุธยา และรูปปั้นหลวงปู่บุญ อดีตเจ้าอาวาสที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านริมคลองบางประทุนแห่งนี้ด้วย
หลังจากใช้เวลาดื่มด่ำกับความงามของเรือนไม้อันวิเศษแห่งนี้ ก็ได้เวลาที่เราต้องเดินทางไปยังจุดหมายสุดท้ายของวันนี้ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร ซึ่งจัดแสดงพื้นที่ชั้น 1 เกี่ยวกับวิถีชุมชนริมคลอง ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ เรือโบราณ ตัวอย่างบ้านเรือนและร้านค้าสมัยก่อนที่จำลองมา ทำให้เห็นรูปแบบการดำเนินชีวิตแต่เดิมของชาวริมคลอง ส่วนพื้นที่่ชั้นสอง เป็นพื้นที่เก็บรวบรวมสิ่งของต่างๆ ของเจ้าอาวาสรุ่นก่อนๆ ที่ได้เก็บรักษาไว้ เช่น เครื่องใช้ภายในวัด วัตถุโบราณต่างๆ ป้ายชื่อวัดเก่า พระพุทธรุปโบราณ พระเครื่อง บางชิ้นมีอายุมากกว่า 100 ปีเลยทีเดียว
เสนห์อีกอย่างของการนั่งเรือเที่ยวคลอง คือ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่เปิดหน้าร้านต้อนรับนักท่องเที่ยวริมคลอง ทริปนี้ เรามีโอกาสได้แวะทานอาหารที่ร้านกาแฟโบราณชื่อ ร้านตั้งเจริญ ซึ่งเดิมเคยขายกาแฟบนเรือมาก่อน , ร้าน Hidden Homestay café บ้านไม้สีขาวที่เปิดเป็นโฮมสเตย์ ร้านกาแฟ แถมยังกันพื้นที่ส่วนหน้า เปิดเป็นที่สอนศิลปะให้กับเด็กในละแวกนั้นอีกด้วย
จบทริปนี้ด้วยความประทับใจ สัญญากับตัวเองว่า ต้องหาโอกาสมานั่งเรือเที่ยวคลองในเส้นทางอื่นๆ ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กันอีกมากมายหลายทริปเลยทีเดียว