จบไปแล้วสำหรับกิจกรรมดีๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ กับการจัดงาน “จาก Aged Society สู่ Happy Young Old” เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเปิดเวทีพูดคุย แลกเปลี่ยน แนวคิดหลากหลายแง่มุมให้ผู้ที่เตรียมเกษียณหรือเกษียณแล้ว ได้เตรียมตัววางแผนสำหรับการใช้ชีวิตเกษียณอย่างมีความสุข กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้” เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยอย่างคุณภาพ
มีหลากมุมมองและหลายแนวคิดที่ “คุณนายพารวย” เห็นว่ามีประโยชน์ อยากนำมาถ่ายทอดต่อให้แฟนคอลัมน์ “รู้เก็บรู้ออมฯ” ได้อ่านกัน หัวข้อนึงที่น่าสนใจ คือ หลายคนมักคิดว่าตัวเองเตรียมเงินไว้ก่อนเกษียณเพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะบริหารเงินหลังเกษียณได้
ดร.เมธี จันทวิมล วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตลาดหลักทรัพย์ฯ แนะเคล็ดลับวิธีบริหารจัดการเงินเพื่อเตรียมไว้หลังเกษียณดังนี้ 1.การประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ให้พิจารณาว่า มีรายรับ เช่น เงินเกษียณ เงินประกันสังคม เพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่ หรือสำรวจรายได้จากการลงทุน เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก หรือเงินปันผลจากการลงทุนอื่นๆ 2.นำเงินมาจัดสรรแบ่งใช้ตามช่วงเวลา ปี 1-2 เป็นช่วงของเงินสำรองที่ใช้ในช่วงแรก ปีที่ 3-10 เป็นช่วงของการนำเงินมาลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสด และหลังปีที่ 10 เป็นการวางแผนการเงินเพื่อดูแลสุขภาพ และ 3.การทบทวนทรัพย์สิน ทรัพย์สินบางประเภทที่ต้องเสียภาษี ซึ่งจะกลายเป็นค่าใช้จ่าย จึงควรจัดสรรอย่างเหมาะสมเพื่อลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้
ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานคณะกรรมการ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า การวางแผนชีวิตเกษียณสุขนั้น คือการเตรียมพร้อมก่อนเสียชีวิต ทรัพย์สินที่อาจเป็นภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต เราสามารถนำมาขายเป็นเงินและนำไปลงทุนอย่างระมัดระวังเพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมา
สำหรับการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณอย่างมีสุข คุณวศิน วัฒนวรกิจกุล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย แนะให้แบ่งเงินเก็บ เป็น 5 ก้อน คือ ก้อนแรก เอาไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณช่วง 1-2 ปีแรก, ก้อนที่ 2 ใช้จ่ายช่วงปีที่ 3-5 โดยอาจลงทุนในตราสารหนี้, ก้อนที่ 3 เตรียมไว้ใช้จ่ายช่วงปีที่ 5-10 โดยลงทุนในหุ้น หรือสิ่งที่อาจมีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนระยะสั้น, ก้อนที่ 4 เตรียมไว้ใช้จ่ายช่วงปีที่ 11-20 ลงทุนสิ่งที่อาจมีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนระยะยาว ก้อนที่ 5 เงินสำรองฉุกเฉิน เก็บไว้โดยไม่นำมาใช้หลังเกษียณ หรือใช้ในเรื่องฉุกเฉิน อาจเป็นการทำประกันต่างๆ
คุณประสาน อิงคนันท์ เจ้าของเพจมนุษย์ต่างวัย นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า นอกจากการมีสุขภาพและการเงินที่ดี ผู้สูงอายุต้องมีความรู้ ทัศนคติที่ดี และทำให้ชีวิตมีคุณค่า เคารพตัวเอง มีอิสระ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
โครงการ “Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้” แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้มีความมั่นคงทางการเงินและพร้อมใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างมีความสุข ผู้สนใจวางแผนการเงินหรือผู้ใกล้เกษียณ เข้าร่วมโครงการได้ ดูรายละเอียดสแกน QR Code ได้เลย
“คุณนายพารวย” มั่นใจว่า ผู้เข้าร่วมงานจะได้ประโยชน์ และนำไปวางแผนหรือปรับแผนการเงินของตัวเอง คนที่มีเวลาเหลืออีกนานกว่าจะเกษียณ ยิ่งลงมือทำเร็วก็ยิ่งดีกับตัวเอง ส่วนคนที่ใกล้เกษียณ ก็มีความพร้อมและมั่นใจในการรับมือกับชีวิตหลังเกษียณได้แน่นอน
ที่มา คอลัมน์ "รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง" หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ