รู้เก็บรู้ออม : “สินทรัพย์ดิจิทัล” กับ “ความยั่งยืน” ใน EU

โลกของการลงทุนยุคใหม่ ต้องยอมรับว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล” และ “ความยั่งยืน” เป็นเรื่องใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจนกลายเป็นเทรนด์การลงทุนสมัยใหม่ทั้งในตลาดทุนไทยและตลาดทุนในต่างประเทศ

“คุณนายพารวย” ทราบมาว่า เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ได้ไปศึกษาดูงานที่สวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี โดยได้ประชุมหารือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจเกี่ยวโยงกับด้านสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น SIX Digital Exchange, Deutsche Borse Group และกลุ่มที่เกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนและการกำกับดูแล อย่าง Gold Standard, European Energy Exchange, Swiss National Bank

ทั้งสองประเทศอยู่ในกลุ่ม EU ที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน และมีการพัฒนาเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลที่ก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆในกลุ่ม เห็นได้จากการที่มีธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวนมาก เช่น SIX Digital Exchange ที่เคยทำธุรกิจตลาดหลักทรัพย์มาก่อน ก่อนจะขยายตัวมาทำสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่ด้านความยั่งยืน 2 ประเทศนี้ ก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม สะท้อนถึงแนวโน้มการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในพันธบัตร Green Bond, Weather Derivatives (อนุพันธ์ที่เกี่ยวกับภูมิอากาศ) และคาร์บอนเครดิต

สังคมโลกให้ความสำคัญกับการจัดการด้านคาร์บอนมากขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่โครงการคาร์บอนเครดิตในไทย ส่วนใหญ่ยังเลือกใช้มาตรฐานของไทยเป็นหลัก มีเพียงส่วนน้อยที่เลือกขึ้นทะเบียนกับ Gold Standard หรือองค์กรอื่นในระดับสากล โดยเฉพาะคาร์บอนเครดิตที่เกี่ยวกับการปลูกป่า

ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ภาพรวมยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสินทรัพย์แบบดั้งเดิมอย่างหุ้น, กองทุน อย่างไรก็ตาม ทั้งตลาดลงทุนสินทรัพย์ดั้งเดิม และสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงดำเนินการควบคู่กันไป

ตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ครั้งนี้มาพัฒนาแผนงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาโครงการเพื่อส่งเสริมให้ไทยมีคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานของ Gold Standard โดยกำลังพิจารณาข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง Gold Standard และตลาดหลักทรัพย์ฯในอนาคต นอกจากนี้ ยังจะสนับสนุนให้ผู้พัฒนาโครงการสามารถขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตของ Gold Standard ได้มากขึ้น

รวมทั้งการพัฒนาระบบและเครื่องมือเพื่อช่วยให้ บจ.สามารถระบุและคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต.และการประเมินบริษัทจดทะเบียนในการคัดเลือกหุ้นยั่งยืน ซึ่งจะมีการประกาศผลรายชื่อหุ้นยั่งยืนในเดือน พ.ย.2566 นี้

ส่วนด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ก็จะมีการเพิ่มช่องทางการระดมทุนในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะโทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) โดยมีแผนทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล เช่น ก.ล.ต. กระทรวงคลัง แบงก์ชาติ และภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันการปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ในการพัฒนาตลาดทุนไทย.

คุณนายพารวย

ที่มา คอลัมน์ "รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง" หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ