รู้เก็บรู้ออม : รู้จัก Direct Listing!!

ทุกวันนี้การจะนำหุ้นหรือหลักทรัพย์เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยได้ ขั้นตอนแรกคือ ต้องมีการกระจายขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือการขายหุ้น IPO (Initial Public Offering) ในตลาดแรก

จากนั้นก็จะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถือเป็น “ตลาดรอง” ที่อนุญาตให้นำหุ้น IPO มาซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง

ขั้นตอนขายหุ้นใน “ตลาดแรก” ต้องตั้งที่ปรึกษาหรือวาณิชธนกิจ เข้ามาทำให้บริษัทมีคุณสมบัติตามที่กำหนด ประเมินมูลค่ากิจการ เพื่อกำหนดราคาหุ้น IPO จากนั้นแต่งตั้ง อันเดอร์ไรเตอร์ เป็นตัวแทนจำหน่าย โดยเป้าหมายบริษัทที่นำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็เพื่อระดมทุนไปขยายกิจการให้เติบโต และทำให้ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของบริษัทดีขึ้น

ปัจจุบันมีการเข้าตลาดหุ้นแบบใหม่ที่เรียกว่า Direct Listing โดยไม่ต้องทำ IPO ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2561 โดยบริษัท Spotify Technology S.A. ผู้พัฒนาแอปฯฟังเพลงแบบสตรีมมิง Spotify และบริษัท Slack Technologies, Inc. ผู้พัฒนาแอปฯ Slack ที่ใช้ส่งข้อความทำงานร่วมกันในองค์กร ก็เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กด้วยวิธี Direct Listing!!

Direct Listing ก็คือการนำหุ้นของบริษัทมาขายให้นักลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้น โดยไม่ต้องขายผ่านตัวกลาง หรืออันเดอร์ไรเตอร์ ในตลาดแรกก่อน นั่นคือ ไม่มีการทำ IPO นั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่มีการออกหุ้นใหม่ ไม่ต้องสำรวจความต้องการซื้อ ไม่มีราคาจองซื้อ นักลงทุนที่สนใจสามารถเข้ามาซื้อขายได้พร้อมกันในวันแรกของการซื้อขายบนกระดาน ราคาซื้อ-ขาย ก็จะขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อ-ขายของแต่ละฝ่าย นั่นจึงทำให้ราคาหุ้นถูกกำหนดตามกลไกตลาด หรืออุปสงค์-อุปทานอย่างแท้จริง

ข้อดีของ Direct Listing คือ ประหยัดเวลา ไม่ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ เช่น จัดหาผู้จัดจำหน่าย การประเมินราคา การจัดสรรหุ้น หรือการนำเสนอข้อมูลต่อผู้ลงทุน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะตัดขั้นตอนตัวกลาง กระบวนการต่างๆ

แต่มีข้อควรระวัง คือนักลงทุนอาจเผชิญกับความผันผวนของราคา เพราะไม่ได้ผ่านการประเมินราคาจากวาณิชธนกิจ จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูล และประเมินมูลค่าให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุน!!

สำหรับตลาดหุ้นไทย ปัจจุบันใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) มีการเสนอขายแบบ Direct Listing ทุกตัว โดยบริษัทหลักทรัพย์จะเป็นผู้ออก DW แล้วนำ DW เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นเลย

แต่อนาคตใกล้ๆนี้ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) จะใช้รูปแบบ Direct Listing มากขึ้น ซึ่งนักลงทุนสามารถรู้ราคา DR และเปรียบเทียบราคา DR ที่ซื้อขายกับสินทรัพย์อ้างอิงในต่างประเทศได้ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ ก่อนตัดสินใจซื้อ และผู้ออกอาจจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง ช่วยให้นักลงทุนมั่นใจว่าจะสามารถซื้อขาย DR ได้

ดังนั้น DR ถือเป็นอีกทางเลือกการลงทุนในตราสารต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย นักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูล อัปเดตเทรนด์การลงทุนสม่ำเสมอเพื่อไม่พลาดโอกาสลงทุน!!

คุณนายพารวย

ที่มา คอลัมน์ “รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง” หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ