รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน : สำรับการเงินสามัญประจำบ้าน (2)

มาว่ากันต่อเรื่อง “สำรับการเงินสามัญประจำบ้าน” เครื่องมือและเคล็ดลับในการบริหารจัดการเรื่องเงินๆทองๆ เพื่อสร้างความสุขทางการเงินให้กับตนเองและครอบครัว

ตอนที่แล้ว เราเปิดหัวสำรับที่ 1 ไปแล้วคือ เคล็ดลับ 4 รู้ สู่ความมั่งคั่งคือ รู้หา-รู้เก็บ-รู้ใช้-รู้ขยายดอกผล วันนี้เราเปิด สำรับที่ 2 คือเครื่องมือจัดการเงิน ที่จะทำให้ชีวิตสบายไม่มีจน ลงมือง่ายๆ เพียงใช้ “เครื่องมือจัดการเงิน” ที่จะช่วยแก้ปัญหาการเงินได้ถูกจุด และหาวิธีเพิ่มความรวยได้ถูกทาง

สำรับที่ 2 นั่นคือ รู้จักทำงบดุล–ทำบัญชีรับจ่าย–จัดทำงบประมาณครอบครัว

เพราะงบดุลจะบอกได้ว่า เรามี “ความมั่งคั่ง” แค่ไหน!! ความมั่งคั่งคือ เงินที่เหลือหลังจากที่นำทรัพย์สินลบด้วยหนี้สินทั้งหมดที่เรามีอยู่ทั้งหมด ก็จะรู้ว่าชีวิตเรามีฐานะ “รวย” หรือ “จน” ยิ่งเรามีเงินหรือทรัพย์สินสุทธิมากเท่าใด โอกาสที่จะนำเงินไปต่อยอดลงทุนสร้างความมั่งคั่งก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

ต่อมาคือ ต้อง “ทำบัญชีรายรับรายจ่าย” โดยจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายประจำวัน เพื่อให้รู้พฤติกรรมการเงินการใช้จ่ายของเราว่า ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายแค่ไหน หากเงินขาดมือ หรือมีไม่พอใช้ในแต่ละเดือน ก็ต้อง “หั่นรายจ่าย-เพิ่มรายได้”

เริ่มจาก “หั่นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง” เช่น เสื้อผ้า ของฟุ่มเฟือย การเที่ยวเตร่ ดูหนังฟังเพลง หรือการทานอาหารนอกบ้าน ส่วนรายจ่ายจำเป็น อย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ตัดไม่ได้ก็ต้องประหยัดหรือลดการใช้ลงและจ่ายบิลให้ตรงเวลาเพื่อไม่ให้โดนค่าปรับจ่ายล่าช้า ส่วนบ้านเช่า-หอพักก็ลองพิจารณาดูว่าจะขยับขยายหาค่าเช่าที่ถูกกว่า หรือหาที่พักใกล้ที่ทำงานเพื่อช่วยประหยัดค่าเดินทาง เป็นต้น

ฝั่ง “เพิ่มรายได้” ก็หางานพิเศษทำนอกเวลางาน หรือทำโอที ขายของออนไลน์ เริ่มจากนำของที่ซื้อมาแล้วไม่ใช้ไม่จำเป็นในบ้านออกขายก่อนเลย อาจขายให้เพื่อนร่วมงาน คนใกล้ชิดที่เขาต้องการหรือมีความจำเป็นมากกว่า หลังจากนั้นก็ตั้งกลุ่มแก๊งเพื่อนทำเพจเฟซบุ๊ก เปิดไอจี หรือโพสต์ขายในออนไลน์ก็ได้

สุดท้ายก็คือ “การจัดทำงบประมาณครอบครัว” โดยประเมินรายรับที่จะได้ในอนาคต และจัดทำงบประมาณรายจ่าย แบ่งเป็น “เงินออมและเงินลงทุน” เพื่อเป้าหมายต่างๆ ก่อน จากนั้นแบ่งเงินที่เหลือเป็นส่วนๆ จัดสรรว่า “จะใช้จ่ายอะไร ไม่เกินกี่บาท”

โดยต้องมีวินัยใช้จ่ายตามงบที่ตั้งไว้ และจดบัญชีรับ-จ่าย ควบคู่กัน ถ้า “เงินขาด” จากการใช้เงินเกินตัว หรือมีเหตุฉุกเฉิน รีบลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และนําเงินออมที่มีอยู่มาชดเชยส่วนขาด ถ้า “ตั้งงบผิดพลาด” ควรปรับปรุงให้ตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น!!

จบสำรับการเงินสำรับที่ 2 สัปดาห์หน้ามาเปิดสำรับการเงิน สำรับที่ 3 กันต่อ


ที่มา คอลัมน์ รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง โดย คุณนายพารวย หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ