ราคากุ้งตกจริง…ใครรับผิดชอบ?

บทความโดย อดิศักดิ์ รักษ์สุวรรณ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงกุ้ง

ถึงวันนี้ภาครัฐยังคงอ้างมติคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ในการอนุญาตให้ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย 10,000 ตัน ด้วยเหตุผลว่าผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอและราคาสูง โดยกำหนดราคาประกันขั้นต่ำไว้ระหว่าง 119-180 บาท ขึ้นกับขนาดของกุ้งเล็กไปถึงขนาดใหญ่ แต่สถานการณ์ราคากุ้งขณะนี้ ต่ำกว่าราคาประกันแล้วโดยเฉพาะกุ้งขนาดเล็ก แต่หาคนซื้อไม่ได้ ความเดือดร้อนของเกษตรกรคือ ยิ่งไม่มีผู้ซื้อ ราคาก็จะยิ่งตกลงไปเรื่อย

โดยเฉพาะฤดูฝนแบบนี้ ฝนตกหนักเป็นอุปสรรคใหญ่ของผู้เลี้ยงกุ้ง เนื่องจากน้ำฝนที่ไหลลงบ่อทำให้ค่าความเค็มของน้ำเปลี่ยน อุณหภูมิน้ำเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยง กุ้งกินอาหารน้อย โตช้า อัตรารอดต่ำ ทำให้เกษตรกรต้องเร่งจับกุ้งขายก่อนกำหนด เพื่อลดความเสี่ยง เพราะหากเลี้ยงต่อไป กุ้งอาจจะตายทั้งหมดได้ ทำให้ตลาดเป็นของผู้ซื้อสามารถกดราคาปากบ่อได้ ซึ่งเกษตรกรจำต้องยอมรับ ดีกว่าปล่อยให้กุ้งตายทั้งบ่อ

ที่ผ่านมา ห้องเย็นให้เหตุผลว่ากุ้งไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดีในการรับซื้อวัตถุดิบเข้าสต๊อกในราคาที่สามารถทำกำไรจากการส่งออกได้ดี และเป็นการช่วยเกษตรกรรับซื้อในราคาที่สมเหตุผล ถ้ามีการดำเนินการจริงจัง

สถานการณ์ราคากุ้งตกต่ำแบบนี้ กรมประมง ในฐานะประธาน Shirmp Board ควรสั่งการหรือขอความร่วมมือให้ห้องเย็นที่เข้าร่วมโครงการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาประกันขั้นต่ำตามที่ประกาศอย่างเป็นทางการ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ไม่ควรปล่อยให้เกษตรกรจับกุ้งแต่หาตลาดไม่ได้ เพราะเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่าเฉพาะอุตสาหกรรมกุ้ง

ที่สำคัญ Shirmp Board เป็นการรวมตัวของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งอย่างยั่งยืน ขณะนี้ ราคากุ้งตกต่ำลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการรับซื้อก็ชะลอตามไปด้วย แล้วเกษตรกรจะมั่นใจและมีหลักประกันอะไรในการลงเลี้ยงกุ้งรอบใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย 400,000 ตัน ในปี 2566 อีกทั้งการรอคอยการสนับสนุนจากภาครัฐด้านงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาโรคก็ยังล่าช้า ผ่านไป 8 เดือน การเลี้ยงกุ้งของไทยยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งการแก้ไขและพัฒนาการเลี้ยง เพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอต่อการส่งออกอย่างจริงจัง ทำให้เป้าหมายของกรมประมงที่ทำแผนการผลิตกุ้งไว้ที่ 320,000 ตันในปีนี้ จึงดูเลือนลาง ยากจะบรรลุเป้าหมาย การแพร่ระบาดของโรคกุ้งจึงเป็นปัจจัยที่บั่นทอนผลผลิตกุ้งต่อไป

ประเทศไทยควรถอดบทเรียนจากประสบการณ์ที่เคยครองตำแหน่งผู้ผลิตและส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลกมาเป็นเวลานาน โดยในปี 2553 ไทยผลิตกุ้งได้สูงสุดถึง 640,000 ตัน นำรายได้เข้าประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลือการผลิตได้เพียง 280,000 ตัน และมีมูลค่าเพียง 43,000 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งของโลก เอกวาดอร์ที่เคยผลิตเป็นรองประเทศในเอเชียมาตลอด เริ่มแซงหน้าไทย ขึ้นเป็นผู้นำ

แม้ว่าการส่งออกกุ้งของไทยจะตกลงมาเป็นอันดับที่ 6 แต่ตลาดกุ้งทั่วโลกยังยอมรับและเชื่อมั่นในคุณภาพของกุ้งไทย ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตจึงควรร่วมด้วยช่วยกัน
ในปี 2565 นี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด ทั้งอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยง และจัดเป็นต้นทุนแฝงของเกษตรกร ทำให้อุตสาหกรรมกุ้งของไทยวันนี้เปลี่ยนไป

ปัจจัยเร่งด่วนขณะนี้ คือ การช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน จากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเงินกู้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรปลอดหนี้ จำนวน 500 ล้านบาท ก็จำเป็นต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพราะการแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมกุ้งไทยจำเป็นต้องดำเนินการอย่างบูรณาการ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะภาครัฐต้องเป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อน วางยุทธศาสตร์และกระจายนโยบายสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม สรรหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการเลี้ยง ช่วยตัดต้นทุนแฝง รวมถึงความเสียหายจากโรคกุ้ง เพื่อเพิ่มอัตราการรอด ให้ผลผลิตกุ้งของไทยกลับมาแข่งขันได้ทุกด้าน ทั้งต้นทุนการผลิต ปริมาณการผลิต และคุณภาพ เพื่อให้ได้ผลผลิตกุ้งทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ที่เพียงพอกับการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ ภาครัฐจึงเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศและขับเคลื่อนอย่างจริงจังให้เป้าหมายบรรลุผล