ระวังข่าวปล่อย…ลวงบ่อกุ้งเป็นบ่อปลา…สร้างกระแสแชร์ข้อมูลเท็จ

สถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำ มาตรการต่างๆที่หลายฝ่ายกำลังร่วมมือเร่งแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่เชิญชวนกันสรรหาเมนูอร่อยเพื่อร่วมด้วยช่วยกันบริโภคลดปริมาณ ทำให้กระแสของปลาชนิดนี้ยังคงอยู่ในความสนใจของผู้คน

ท่ามกลางความสนใจข่าวสารนี้ มีประเด็นการตามล่าหาคนผิด ซึ่งนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านสื่ออิเลคทรอนิคส์ ฝากเตือนประชาชนอย่าแชร์ข้อมูลที่ยังยืนยันไม่ได้ว่าเท็จหรือจริง อาจติดร่างแหเป็นคดีความโดยไม่รู้ตัวได้ เนื่องจากมีผู้โพสต์บางรายที่โพสต์เรื่องราวต่อเนื่อง โดยตั้งธงให้เอกชนผู้นำเข้าปลาหมอคางดำอย่างถูกต้องนั้น ต้องตกเป็นจำเลยของสังคมให้ได้ ไม่ว่าข้อมูลที่สร้างขึ้นเองหรือแชร์มาจะเป็นจริงหรือเท็จ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทั้งผู้โพสต์และแฟนเพจผู้ติดตาม

ยกตัวอย่างภาพที่อ้างว่าเป็นฟาร์มยี่สารนั้น ได้รับการยืนยันแล้วไม่ใช่ฟาร์มยี่สารจริง เนื่องจากในบริเวณใกล้เคียงฟาร์มยี่สารไม่มีอาคารสูงอยู่ในรัศมีถ่ายภาพได้ แต่ภาพฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำที่ผู้โพสต์ใช้กลับปรากฏอาคารสูง (ในกรอบสีแดง) อย่างชัดเจน ถ้าเริ่มต้นเปิดฉากฟาร์มด้วยภาพปลอมจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลอื่นๆนั้นเป็นจริงและน่าเชื่อถือ

ถัดมาอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อ 21 กรกฎาคม 2567 มีการแชร์โพสต์จาก ผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่ง เป็นภาพแผนผังของฟาร์มที่ระบุว่า “เปิดกระบวนการเลี้ยงปลา ฟาร์มยี่สาร สมุทรสงคราม” ซึ่งถ้าดูจากแผนผังภาพประกอบจะเห็นว่า ได้สร้างความเข้าใจผิดให้ผู้อ่านไปแล้ว ว่าฝั่งซ้ายมือของภาพเป็นบ่อเลี้ยงปลา ทั้งที่จริงๆแล้ว บ่อฝั่งซ้ายทั้งหมดเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง แน่นอนว่าได้ชวนให้ผู้คนเข้าใจผิดไปตามเจตนารมณ์ทันทีว่าที่นี่คือบ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและปลามานานกว่า 30 ปี กล่าวว่า ภาพในบ่อนั้นฟ้องอย่างชัดเจน เพราะเครื่องตีน้ำกินไฟไม่น้อย หากเลี้ยงปลากิโลกรัมละไม่กี่สิบบาท ไม่คุ้มค่าไฟแน่นอน ภาพบ่อที่มีเครื่องตีน้ำมากมายจึงเป็น “บ่อกุ้ง” เท่านั้น … แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขภาพ แต่ก็ทำให้สงสัยในข้อมูลต่างๆ ที่นำเสนออยู่ดี เป็นจุดเตือนที่สองที่ผู้ติดตามข่าวสารต้องพึงระมัดระวัง

การเลือกแชร์ข่าวจากแหล่งใดก็ตาม ควรพิจารณาให้รอบคอบและตระหนักถึงความถูกต้องเป็นหลัก เฟซบุ๊คของบุคคลรายดังกล่าว พบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่ายปลาหมอคางดำในตู้เลี้ยงปลาของต่างประเทศ แล้วนำมาให้ข้อมูลเท็จแก่สังคมว่าเป็น “ภาพจริงของปลาหมอคางดำ ล็อตนำเข้า” กระทั่งมีผู้คอมเม้นท์ว่า เสริชเจอภาพนี้ในเว็บจีนและเว็บต่างประเทศ จึงยอมเปลี่ยนคำชวนเชื่อเสียใหม่ว่าเป็นภาพเปรียบเทียบ

ทั้งนี้ ยังไม่ได้กล่าวถึงการใช้โดรนละเมิดพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าได้รับอนุญาตจากเจ้าของสถานที่ หรือแม้แต่ภาพการเพาะเลี้ยงปลาที่เป็นวิถีปกติของการเตรียมเลี้ยงหรืออนุบาลปลานิล ปลาทับทิม ก็ยังถูกนำมาอ้างว่าเป็นการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ โดยไม่มีภาพปลาหมอคางดำสักตัว ที่สำคัญ หากมีการเลี้ยงต่อมาหลายปีย่อม ต้องมีการนำออกมาขาย แต่กลับไม่เคยพบการซื้อขายปลาหมอคางดำเลยตลอดเวลาผ่านมา จะมีก็แต่ขายแต่ปลานิล ปลาทับทิม เท่านั้น

นักกฎหมายหลายคนจึงตั้งคำถามถึงข้อมูลต่างๆที่มีความพยายามสื่อสารออกมาว่ามีเครดิตน่าเชื่อถือเพียงใด แม้การใส่ข้อมูลเพื่อชวนให้ผู้คนเห็นด้วยและคล้อยตาม แต่หากทำบนอคติที่พยายามยัดเยียดข้อหาให้ผู้อื่น และตัดสินเอาเองว่าสิ่งที่ตนมีตนได้รับมานั้นถูกต้อง ก็อาจเป็นจุดอ่อนที่เอกชนผู้ได้รับผลกระทบสามารถนำไปดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หมายรวมถึงผู้ติดตามที่ทำการแชร์ข้อมูลเท็จด้วย ทางที่ดีขอให้ติดตามอย่างมีสติ ไม่คล้อยตามโดยมองข้ามข้อเท็จจริงหลาย​ๆข้อ หรืออย่างน้อยก็ควรรอให้เรื่องราวทุกอย่างถึงที่สุดก่อน.