ฟื้นฟูสมดุลราคาสุกร หลังผู้เลี้ยงแบกขาดทุนนาน 2 ปี

0

บทความ โดย อัปสร พรสวรรค์ นักวิชาการอิสระ

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูล้มลุกคลุกคลานมาหลายต่อหลายครั้ง วันนี้ยังสุ่มเสี่ยงกับการล้มหายตายจากจากอาชีพอีก หลังมีข่าวรัฐบาลจะยอมเปิดนำเข้าเครื่องในหมูในการเจรจาต่อรองภาษีกับโดนัลด์ ทรัมป์ กรณีตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าไทยสูงถึง 37% เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยเผชิญอะไรมาบ้างมาดูกัน

นับตั้งแต่ปี 2565 หลังกรมปศุสัตว์ประกาศพบการแพร่ระบาดของโรค ASF (African Swine Fever) ในประเทศไทย ที่ส่งผลให้ผลผลิตสุกรในประเทศหายไป 50% ดันราคาเนื้อสุกรในประเทศสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เกินเฉลี่ย 180-200 บาทต่อกิโลกรัม เกิดผลกระทบต่อเนื่องแบบโดมิโน (Domino Effects) มีการฉวยโอกาสลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” จากประเทศที่มีต้นทุนผลิตต่ำกว่าประเทศไทยเพื่อหาประโยชน์จากส่วนต่างราคา ซึ่งเป็นภัยร้ายให้ผู้เลี้ยงหมูไทยต้องเลิกอาชีพไปจำนวนมาก และต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการฟื้นฟูผลผลิตให้กลับมาเท่าเดิม แต่ก็ยังไม่วายต้องขาดทุนจากหมูเถื่อนราคาถูกที่ยังวนเวียนอยู่ในประเทศตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่เกษตรกรมีภาระต้นทุนการป้องกันโรคระบาดเพิ่มขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงการสูญเสีย

ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากเป็นช่วงของการฟื้นฟูการผลิตสุกรของไทยแล้ว ผู้เลี้ยงสุกรยังต้องเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากสงครามที่ยื้ดเยื้อระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมสุกรและความเป็นอยู่ของเกษตรกรทั่วประเทศ แม้ว่าปัจจุบันราคาสุกรจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ โรคระบาดและค่าบริหารจัดการฟาร์มที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาเพิ่งขยับเพิ่มขึ้นช่วงเดือนที่ผ่านมาตามปริมาณผลผลิตสุกรที่ออกสู่ตลาดน้อยลง โดยล่าสุดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 86-88 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรมีอัตรากำไรเฉลี่ยเพียง 13% เท่านั้น เมื่อเทียบกับต้นทุนของเกษตรกรขณะนี้ที่ 76 บาทต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มต่อกิโลกรัมของไทยถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม (98 บาท) กัมพูชา (92 บาท) เมียนมา (97 บาท) ลาว (84 บาท) ที่ยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรค ASF (African Swine Fever) อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ของโลกราคายังต่ำกว่าประเทศไทยมาก เช่น รัสเซีย 50 บาท บราซิล 47 บาท และจีน 68 บาท ซึ่งประเทศที่มีต้นทุนต่ำเหล่านี้คือโอกาสของมิจฉาชีพในการลักลอบนำเข้ามาขายในประเทศไทยซ้ำรอยเดิมได้ทั้งสิ้น

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการบริหารจัดการฟาร์มและมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดและยั่งยืน สามารถควบคุมสถานการณ์ ASF ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็เป็นการลงทุนที่จำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ และความมั่นคงด้านอาหารให้กับคนไทยทั้งประเทศ

ความพยายามของผู้เลี้ยงสุกรไทยไม่ได้หยุดแค่เพียงแค่การป้องกันโรค แต่ยังให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลอุปสงค์-อุปทาน (Demand-Supply) สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ใช้มาตรการ “ตัดตอนลูกสุกร” 450,000 ตัว เพื่อปรับสมดุลอุปทานในตลาด เป็นการเสียสละของผู้เลี้ยงเพื่อประโยชน์ระยะยาวของทั้งระบบ ในขณะที่ต้นทุนด้านการป้องกันโรค และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ โดยเฉพาะ วัตถุดิบอาหารสัตว์ ยังคงมีความผันผวน ไม่มีความแน่นอน

ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิสูงทำให้สุกรกินอาหารน้อยลงเติบโตช้า ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีแนวโน้มลดลงตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาขยับขึ้นบ้างในช่วงนี้

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้งหมด ราคาสุกรในปัจจุบันเป็นการปรับตามกลไกตลาดที่ตอบสนองต่อภาวะต้นทุน ความเสี่ยง และความพยายามของเกษตรกร ในการรักษาเสถียรภาพการผลิตและความปลอดภัยทางอาหาร ภาครัฐจึงควรพิจารณาสถานการณ์นี้อย่างรอบด้าน และปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ปรับสมดุลด้วยตัวเอง แทนการเร่งแทรกแซงราคาในลักษณะที่อาจกระทบต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรม

ผู้เลี้ยงสุกรไทยยังคงยืนหยัดในการผลิตเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว เพื่อให้ห่วงโซ่อาหารของประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง.