สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ขอรัฐตรวจสอบหมูเถื่อนซ้ำทั่วประเทศและเร่งดำเนินคดี หวั่นยังมีตกค้างพร้อมระบายออกมากดราคาหมูไทยไม่ผ่านเส้นคุ้มทุน เกษตรกรเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูงสวนทางกับราคาที่ยังยืนอ่อน กดดันเกษตรกรต้องออกจากอาชีพ
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่สมาคมฯ ได้ร่วมสังเกตการณ์ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ซึ่งเป็นตู้ตกค้างล็อตที่ 2 พบ “หมูเถื่อน” ซึ่งเป็นชิ้นส่วนแช่แข็ง ทั้งเนื้อหมูสามชั้นและเครื่องใน จำนวน 460 ตัน และได้ส่งมอบให้กรมปศุสัตว์เพื่อนำของกลางดังกล่าวไปทำลายฝังกลบตามขั้นตอนตามหลักวิชาการ เพื่อป้องกันโรคระบาด
การเข้าตรวจค้นซ้ำที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 เป็นการขยายผลจากการจับกุมหมูเถื่อน 161 ตู้ เมื่อปลายปี 2566 ทำให้พบตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างอีก 92 ตู้ ในจำนวนนี้เป็นตู้ต้องสงสัยว่าเป็นหมูเถื่อน 16 ตู้ และมีการตรวจเพิ่มอีก 1 ตู้ รวมทั้งหมด 17 ตู้ ได้ของกลางหมูเถื่อนตามที่คาดการณ์ไว้ โดยในตู้สุดท้ายมีการซุกซ่อนมากับปลาทะเลแช่แข็ง
“หมูเถื่อนที่เข้ามาในประเทศไทยแม้จะจับกุมได้น้อยลงแต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มยังไม่สามารถปรับขึ้นข้ามเส้นคุ้มทุนไปได้ ซึ่งราคาหน้าฟาร์มขณะนี้อยู่ที่ 68-74 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนยังสูง 80-82 บาทต่อกิโลกรัม สวนทางกับการบริโภคของประชาชนที่ยังชะลอตัวตามเศรษฐกิจ” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้เกษตรกรยังมีความยากลำบากในการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน และปัจจัยการป้องกันโรค ล้วนทำให้ค่าใช้จ่ายในฟาร์มและต้นทุนการเลี้ยงหมูต่อตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นเฉลี่ยที่ 11.20 – 12 บาทต่อกิโลกรัม และไม่สามารถหาข้าวโพดได้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาอากาศแปรปรวนผลผลิตมีน้อย โดยปกติไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ปีละ 5 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการสูงถึง 8 ล้านตัน ต้องนำเข้าทดแทนส่วนขาดปีละ 3 ล้านตัน
ผู้เลี้ยงหมูไทยประสบปัญหาขาดทุนสะสมมานานกว่า 1 ปี หลังเผชิญวิกฤตราคาหมูตกต่ำในปี 2566 จากหมูเถื่อนที่ทะลักเข้ามาในประเทศมากกว่า 64,000 ตัน ต้นทางจากประเทศบราซิลและประเทศทางยุโรปที่มีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม (ราคาหมูมีชีวิต) ซึ่งต่ำกว่าไทย 50% กดดันให้เกษตรกรไทยต้องยอมขายในราคาขาดทุน จนถึงขณะนี้มีเกษตรกรต้องเลิกอาชีพไปแล้วไม่น้อยกว่า 50,000 ราย
นายสิทธิพันธ์ กล่าวว่า อยากขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบหมูเถื่อนที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศทั้งในห้องเย็นและท่าเรือต่างๆ โดยเฉพาะท่าเรือคลองเตย ที่ยังมีตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างอีกจำนวนหนึ่ง และเร่งดำเนินคดีกับผู้กระทำตามกฎหมายทุกคน เพราะหมูเถื่อนเป็นปัจจัยทำให้เกิดหมูส่วนเกิน ราคาหมูไทยจึงไม่เป็นไปตามกลไกตลาด เกษตรกรไทยไม่สามารถแข่งขันได้ และจนถึงขณะนี้ หมูเถื่อนที่เข้ามานานกว่า 1 ปี เป็นหมูที่หมดอายุ ไม่เหมาะกับการบริโภค ที่สำคัญไม่ผ่านการตรวจสอบสารตกค้าง สารปนเปื้อน โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้คนไทยอยู่ในภาวะเสี่ยง จึงจำเป็นต้องปราบปรามให้หมดสิ้น เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางอาหารของคนไทยและสนับสนุนผู้เลี้ยงหมูไทยมีกำลังใจสานต่ออาชีพเลี้ยงหมูต่อไป