นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างสวนป่า เบญจกิติ ว่า ที่ประชุมหารือถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานสร้างสวนป่าเบญจกิติ บนเนื้อที่ 259 ไร่ ของการยาสูบแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ ได้ปรับแผนการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ ซึ่งกรมธนารักษ์จัดทำแผนการดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบแล้ว และ กยท. ได้ทำการส่งมอบรับมอบพื้นที่โรงงานยาสูบได้ครบทั้ง 3 ระยะ ไปแล้วเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
สำหรับแผนการก่อสร้างสามารถดำเนินการได้ทันที โดยในระยะที่ 1 คือ ช่วง 8 เดือนแรก กำหนดเป้าหมายการก่อสร้างพื้นที่ในส่วนสวนป่าให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อให้มีช่วงเวลาจัดเตรียมงานเฉลิมพระเกียรติวันที่ 12 สิงหาคม 2564 และระยะที่ 2 คือช่วง 8 เดือนหลัง ก่อสร้างปรับปรุงอาคารพื้นที่เดิมให้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ให้แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จากเดิมต้องดำเนินการทั้ง 2 ระยะให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งการปรับแผนสร้างสวนป่าเบญจกิติ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการส่งมอบพื้นที่ของ กยท. ที่ได้ส่งมอบพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้วใน 3 ระยะ
“หลังจากส่งมอบพื้นที่ระยะ 3 แล้ว ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 100 วัน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการรื้อถอนไปเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2563 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2563 เท่าที่ประเมินปริมาณงานก่อสร้างและรื้อถอน ต้องใช้เวลาในการดำเนินงาน และอาจส่งผลต่อแผนการสร้างสวนป่า ที่ต้องใช้ระยะเวลา 16 เดือน ทั้งในการก่อสร้างสวนป่า และพิพิธภัณฑ์ ที่จะให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนปี 2564 จึงต้องมีการปรับแผนงานก่อสร้างใหม่ ซึ่งผมได้กำชับไปแล้วว่าในส่วนของงานสวนป่าต้องเสร็จสมบูรณ์ 100 % ภายในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อให้สามารถเตรียมงานด้านอื่นๆ ให้ทันกับการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จฯพระพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม 2564 ”
ทั้งนี้ในการปลูกต้นไม้ในสวนป่าเบญจกิติ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เสนอข้อแนะนำในการออกแบบสวนป่า ให้เป็นไปตามกระแสพระราชดำริของสมเด็จฯพระพันปีหลวง โดยออกแบบภูมิสถาปัตย์ให้มีต้นไม้ที่ออกดอกเป็นกลุ่มตามลักษณะพันธ์ไม้ดอกที่มีสีใกล้เคียงกัน เช่น ตะแบก อินทนิลเสลา เป็นสีม่วงปลูกรวมกัน เวลาออกดอกก็จะหนาแน่น เหมือนในต่างประเทศที่ปลูกซากุระ ซึ่งผู้ออกแบบเสนอผังการปลูกต้นไม้เป็นกลุ่มออกดอกทั่วสวนตลอดทั้งปี โดยมีพันธ์ไม้สำคัญ เช่น ชมพูพันธุ์ทิพย์ออกดอกสีชมพูช่วงเดือนธันวาคม สื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกฝั่งต้นไม้ดอกเป็นสีส้ม ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม สื่อถึงสมเด็จฯพระพันปีหลวง แกนกลางสวนเป็นต้นรวงผึ้ง มีดอกสีเหลือง กลิ่นหอม เป็นต้นไม้ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 10 ออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคม
นอกจากนี้ที่ประชุมหารือถึงการสร้างหอสูงชมเมืองเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่สวนป่าเบญจกิติ ล่าสุดผู้ออกแบบเสนอแนวคิดก่อสร้างหอสูงชมเมืองเป็นรูปดอกบัวกลางน้ำ ประชาชนสามารถขึ้นไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ชมภูมิทัศน์ กรุงเทพฯ แบบ 360 องศา โดยจะให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของประเทศไทย เพราะสวนป่าแห่งนี้ ได้ดำเนินการบนพื้นที่ที่มีมูลค่าสูงใจกลางเมือง ไม่สามารถหาได้อีกด้วยคุณค่าที่มีมหาศาล ดังนั้นน่าจะเตรียมสัญลักษณ์สำคัญเป็นที่เชิดชูในอนาคต นอกจากจะให้คนไทยเข้ามาเยี่ยมชมแล้ว ยังจะเป็นจุดดึงดูดที่สำคัญของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
“ผืนป่าแห่งนี้นอกเหนือจากเป็นปอดของคนกรุงเทพ ที่จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และดูแลด้านสิ่งแวดล้อม แล้ว ยังเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯทุกคน ที่แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมของประชาชน เพราะไม่ว่าคนในระดับใด ทุกสาขาอาชีพ ทุกชาติศาสนา สามารถมาเยี่ยมชม มาใช้ สวนป่าเบญจกิติ ซึ่งถือเป็นสมบัติที่มีคุณค่าของประเทศได้” นายสันติ กล่าว