ประมงสมุทรสงครามเดินหน้าจับปลาหมอคางดำไม่หยุด จัดลงแขกลงคลองต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8

กรมประมง โดย สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสงคราม คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกรมประมง (FC) สมุทรสงคราม น.อ.อชิตะสิน กำมะณี รอง ศรชล.จว.สส. สภ.ลาดใหญ่ กอ.รมน.จว.สส. ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน เดินหน้าต่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ จัดกิจกรรมลงแขกลงคลองต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8/2567 ลงพื้นที่สำรวจความหนาแน่นปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำและจับปลาหมอคางดำ

นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกรมประมง (FC) สมุทรสงคราม หน่วยงานราชการภาคีที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่เปิดปฏิบัติการจับปลาหมอคางดำ ณ คลองลาดใหญ่ (บริเวณหน้าวัดลาดใหญ่) หมู่ที่ 11 ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมแรงร่วมใจจับปลาหมอคางดำพร้อมทั้งบูรณาการทำงานร่วมศูนย์วิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสงครามเพื่อศึกษาความหนาแน่นของปริมาณปลาในหมอคางดำในแหล่งน้ำเพื่อกำหนดแผนการจัดการปลาชนิดนี้อย่างเป็นระบบ และรวบรวมปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์โครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ของ ศพช.สมุทรสงครามดัดแปลงโครโมโซมปลาหมอคางดำ ทำให้เป็นหมัน แพร่พันธุ์ไม่ได้ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนแห กากชา รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้ร่วมงาน จากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า กิจกรรมลงแขกลงคลอง เป็นหนึ่งในแนวทางการลดและควบคุมประชากรปลาหมอคางด ไม่ให้ทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นในแหล่งน้ำสาธารณะ รวมถึงบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกร และเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนและเกษตรกรได้มาร่วมมือกันหยุดยั้งการแพร่พันธุ์ของปลาชนิดนี้ ทั้งนี้ สมุทรสงครามจัดกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” 7 ครั้งที่ผ่านมา สามารถจับปลาได้มากกว่า 3,300 กิโลกรัม มีการสนับสนุนปลานักล่า (ปลากะพงขาว) ให้กับกลุ่มเกษตรกรเครือข่าย จำนวน 8,000 ตัว เพื่อนำไปอนุบาลหรือเลี้ยงให้มีขนาดโตขึ้น มีความแข็งแรงสามารถไล่ล่าได้ดี จากนั้นนำมาวางแผนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำร่วมกัน พร้อมทั้งติดตามประเมินผลอย่างจริงจัง

การจัดกิจกรรมลงแขก-ลงคลองในครั้งนี้ มีการดำเนินการใน 3 พื้นที่ ดังนี้

  1. บริเวณคลองย่อยคลองลาดใหญ่ (หน้าวัดลาดใหญ่) ต.ลาดใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม ดำเนินการโดยสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกรมประมง (FC) สมุทรสงคราม หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง สามารถจับสัตว์น้ำได้จำนวน 408.20 กิโลกรัม แบ่งเป็นปลาหมอคางดำ จำนวน 267.10 กิโลกรัม และปลากระบอก จำนวน 141.10 กิโลกรัม
  2. บริเวณคลองเลียบถนนเอกชัย ต.ลาดใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม ดำเนินการโดย สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกรมประมง (FC) สมุทรสงคราม สามารถจับปลาหมอคางดำได้ 100 กิโลกรัม
  3. บริเวณคลองสาม ต.บางแก้ว อ.เมืองสมุทรสงคราม ดำเนินการโดยผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ตำบลบางแก้ว การดำเนินงานอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ประมง สามารถจับปลาหมอคางดำได้ จำนวน 6,240 กิโลกรัม.

รวมยอดการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติจากกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้ (30 สิงหาคม 2567) ทั้งสิ้น 6,607.10 กิโลกรัม และมีการนำปลาหมอคางดำที่ถูกกำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ 3 ช่องทาง คือ นำไปเป็นเหยื่อเลี้ยงปูทะเล นำไปเป็นอาหารเลี้ยงเป็ด และนำส่งโรงงานปลาป่น

นอกจากนี้ จังหวัดยังได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อส่งเสริมให้มีการจับปลาหมอคางดำมากขึ้น ต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ของการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งสำนักงานประมงสมุทรสงครามได้ดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ได้ครบตามโควต้าที่ได้รับการจัดสรรเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ ประมงสมุทรสงครามได้ประสานกับโรงงานปลาป่น บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด ในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อขายปลาหมอคางดำทำปลาป่นในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม (โดยผู้ขายได้ 12 บาท แพปลาได้ 3 บาท) แพปลาในจังหวัดสมุทรสงครามได้นำส่งปลาหมอคางดำเข้าโรงงานศิริแสงอารำพี ในระหว่างวันที่ 20-29 สิงหาคม 2567 แล้ว 53,070 กิโลกรัม

การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้ปริมาณปลาในจังหวัดสมุทรสงครามลดลงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ประมงสมุทรสงคราม ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันแจ้งเบาะแสการพบปลาหมอคางดำให้กับกรมประมง เพื่อจัดทีมไล่ล่าปลาหมอคางดำในครั้งถัดไป