บทความ โดย ปาจรีย์ เนินสำราญ นักวิชาการอิสระ
การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำยังเป็นปริศนาที่สังคมจับตามอง ล่าสุด นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ออกมายืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานที่สามารถชี้ชัดได้ว่า ต้นตอของการแพร่ระบาดมาจากภาคเอกชนหรือไม่ ประเด็นนี้กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังไม่มีบทสรุปที่สามารถฟันธงได้ว่าใครเป็นผู้กระทำผิด
จากการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความผลกระทบต้องการคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับต้นตอของปลาหมอคางดำ อย่างไรก็ตาม จากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมประมง ไม่สามารถสรุปความผิดได้ว่าต้นตอมาจากที่ใด และไม่ควรด่วนสรุปโดยปราศจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพราะจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดและกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรมสำหรับกรณีปลาหมอคางดำ กรมประมง ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานที่ระบุได้ว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมีต้นกำเนิดจากภาคเอกชนหรือจากปัจจัยทางธรรมชาติ การแก้ปัญหานี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและกระบวนการตรวจสอบที่เป็นระบบ ไม่ใช่การคาดเดาหรือกดดันจากกระแสสังคม

ในส่วนของกรมประมง ได้ประกาศมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ 7 ประการ โดยมีมาตรการหลักดังนี้ คือ จัดกิจกรรมลงแขกลงคลอง จับปลาออกจากแหล่งน้ำให้มากที่สุด, นำปลาที่จับได้ไปพัฒนาเพิ่มมูลค่าและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น น้ำหมักชีวภาพและผลิตภัณฑ์อาหาร, การปล่อยปลาผู้ล่าทั้งปลากะพง ปลาอีกง และปลาช่อน โดยพิจารณาให้เหมาะกับแหล่งน้ำ และล่าสุด การวิจัยและพัฒนาปลาหมอคางดำ 4N ได้เป็นผลสำเร็จ เพื่อปล่อยผสมกับปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ ทำให้ปลาเป็นหมันตัดตอนการแพรพันธุ์ในระยะยาว ส่งผลให้การแพร่ระบาดลดลงจาก 19 จังหวัด เหลือ 16 จังหวัด
กรณีนี้ไม่ได้เป็นเพียงข้อถกเถียงในสังคมเท่านั้น แต่ยังนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย โดยศาลแพ่งรับฟ้องคดีจากกลุ่มชาวประมง ขณะเดียวกัน ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องอีก 2 คดี ที่มุ่งไปยัง 18 หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมประมง
อย่างไรก็ตาม การที่ศาลรับฟ้องไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้กระทำผิด แต่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการไต่สวน ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาหลักฐานอย่างรอบด้านก่อนจะมีคำตัดสินที่ชัดเจน
ด้านบริษัทเอกชนที่ถูกพาดพิงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าปลาหมอคางดำ ได้ออกมายืนยันว่า บริษัทดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอน พร้อมเปิดเผยกระบวนการป้องกันการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำอย่างเคร่งครัด (Biosecurity) และสนับสนุนให้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐ รวมถึงมีความมั่นใจในมาตรฐานของบริษัท และพร้อมให้ข้อมูลทุกอย่างเพื่อคลี่คลายปัญหานี้อย่างเป็นธรรม
ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถชี้ชัดได้ว่า ภาคเอกชนเป็นต้นเหตุของปัญหา สังคมจึงควรยึดมั่นในข้อเท็จจริง และปล่อยให้กระบวนการตรวจสอบเป็นตัวตัดสิน แทนที่จะใช้กระแสกดดันหรือสร้างความเข้าใจผิดที่อาจส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมสัตว์น้ำของประเทศในระยะยาว./